โครงการศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสว่าควรจัดตั้งเป็น “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ” ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สวทช. และมูลนิธิฯ ทำนองเดียวกับที่เคยจัดตั้ง “ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มาแล้ว และให้เชิญ ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ หัวหน้าศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมเป็นที่ปรึกษาของโครงการจัดตั้งศูนย์ หลังจากนั้นได้มีการจัดประชุมหารือร่วมกันเรื่องโครงการจัดตั้งศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยู่หลายครั้งจนกระทั้งวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะเป็นส่วนงานในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์อันสูงสุดต่อประเทศชาติในการดูรักษาทางการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยแก่ผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะในเขต ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อศูนย์ดังกล่าวว่า “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิด “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๕ พร้อมทั้งทอดพระเนตรนิทรรศการแสดงประวัติความเป็นมาและการดำเนินงานของศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ การดำเนินงานของ “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” แบ่งออกเป็น ๓ ด้าน ดังนี้ ๑. ด้านเครือข่าย (Collaborative network) ใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน การดําเนินงานด้านเครือข่ายใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำปาง จังหวัดแพร่ จังหวัดน่าน จังหวัดลำพูน จังหวัดพะเยาและจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ เป็นศูนย์กลางในการประสานงานการรักษาผู้ป่วยภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ มีจุดมุ่งหมายที่ต้องการสร้างเครือข่ายให้เกิดความร่วมมืออย่างมั่นคงและยั่งยืน “Sustainable Collaborative Network” โดยทำการสร้างทีมการรักษาแบบสหสาขาวิชาชีพ จากความร่วมมือกันของโรงพยาบาลและบุคลากรในเครือข่าย ทำให้ในปัจจุบันมีสหสาขาวิชาชีพที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสมและครบกระบวนการจำนวนทั้งสิ้น ๑๑๒ คน และมีโรงพยาบาลเครือข่ายครอบคลุม ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยประเภทและจำนวนของสหสาขาวิชาชีพที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเครือข่าย ดังนี้ ๒. ด้านการให้บริการผู้ป่วยของศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ การให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยมีการทำงานแบบ “Several Aspects” ซึ่งเป็นการร่วมการออกตรวจให้ บริการ ณ คลินิกรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้รับการตรวจรักษาตามแผนการรักษาของแพทย์ และการบริการนำเข้าข้อมูลผ่านโปรแกรม Thai Cleft Link ซึ่งเป็นโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยระหว่างศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ และโรงพยาบาลเครือข่ายต่าง ๆ ใน ๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน นอกจากนี้ยังมีการให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วย ดูแลจิตใจและให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวผู้ป่วย กำกับดูแลและติดตามผู้ป่วยในเครือข่ายให้ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน (protocol) รวมไปถึงการลงพื้นที่เพื่อติดตามอาการผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้มีการจัดการประชุมร่วมกับสหสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการดูแลผู้ป่วยระหว่างสหสาขาวิชาชีพ และเพื่อหาแนวทางการรักษาผู้ป่วยระหว่างสหสาขาวิชาชีพ โดยมีการประชุมร่วมกับสหสาขาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เริ่มจัดตั้งศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ จนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๔ มีการให้บริการผู้ป่วยใน ๔ ด้าน คือ การบริการตรวจรักษา (คลินิกผู้ป่วยนอก) การบริการด้านการผ่าตัด การบริการด้านการฝึกพูดและการบริการด้านทันตกรรม โดยบูรณาการระบบฐานข้อมูลการบริการด้านทันตกรรมเข้ามาในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ รวมมีผู้ป่วยเข้ารับบริการจำนวนทั้งสิ้น ๖๑๔ คน (ไม่นับซ้ำ) คิดเป็นจำนวนให้บริการ ๙,๗๗๐ ครั้ง (ผู้ป่วยหนึ่งคนมารับบริการมากกว่า ๑ ด้าน และรับบริการแต่ละด้านมากกว่า ๑ ครั้ง) โดยเฉพาะปี พ.ศ. ๒๕๖๔ (ม.ค. – ธ.ค.) มีผู้ป่วยมารับบริการ จำนวน ๔๒๐ คน คิดเป็นจำนวนให้บริการ ๓,๔๓๕ ครั้ง ทั้งนี้ มีจำนวนผู้ป่วยสะสมที่อยู่ในฐานข้อมูลโปรแกรม Thai Cleft Link ที่มารับบริการที่ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ และโรงพยาบาลเครือข่ายใน ¬¬๘ จังหวัดภาคเหนือตอนบน รวมจำนวน ๑,๙๕๙ คน ๓. ด้านการใช้นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนและวางแผนการรักษาผ่าตัด ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ได้นำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้เพื่อช่วยในการวางแผนการรักษาก่อนการผ่าตัดในกลุ่มโรคความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ (Craniofacial disease) และในกลุ่มโรคอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งบริเวณขากรรไกรล่าง (Mandibular cancer) และกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับอุบัติเหตุบริเวณใบหน้า (Traumatic injury) เป็นต้น ร่วมกับทีมศัลยแพทย์ตกแต่ง และแพทย์ โสต ศอ นาสิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อช่วยให้ทีมแพทย์ สามารถวางแผนก่อนการผ่าตัด ทำให้ลดความคลาดเคลื่อนของการผ่าตัด และช่วยลดระยะเวลาในการผ่าตัด ผลการใช้นวัตกรรมมีดังนี้ – เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ๓ มิติ แบบเคลื่อนย้ายได้ (MobiiScan) มีการใช้งานเครื่อง MobiiScan ผลงานวิจัยของ สวทช. ในการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ตั้งแต่เปิดศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๔ รวมจำนวน ๘๖ ครั้ง ที่ผ่านมาใช้เครื่อง MobiiScan ร่วมกับคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เครื่องตั้งอยู่ที่คณะทันตแพทยศาสตร์) ซึ่งเป็นเครื่องแรกที่ สวทช. นำไปติดตั้งเพื่อสนับสนุนการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษาผู้ป่วย – การวัดและออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Computing Design) มีการออกแบบและวางแผนการรักษาก่อนการผ่าตัดผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น การวัดขนาดและปริมาตรของรูโหว่จาก DICOM File นับตั้งแต่เปิดศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๔ รวมจำนวน ๘๒ ครั้ง เช่น การวางแผนก่อนการผ่าตัดทำ Fronto-orbital advancement การขยายกะโหลกศีรษะเพื่อให้สมองมีพื้นในการขยายตัวและเจริญเติบโตในผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของกะโหลกศีรษะเชื่อมติดผิดปกติ (Craniosynostosis) เป็นต้น – การขึ้นรูปแบบจำลองสามมิติด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Model Printing) มีการสร้างแบบจำลอง ๓ มิติ เพื่อใช้วางแผนการรักษาก่อนการผ่าตัดผู้ป่วย ตั้งแต่เปิดศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๖๒ – ๒๕๖๔ รวมจำนวน ๔๑ ครั้ง การดำเนินการรักษาผู้ป่วยที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะที่ผ่านมา มีการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ร่วมกันในการวินิจฉัยและวางแผนก่อนการผ่าตัดรักษาผู้ป่วย เช่น การออกแบบเพื่อซ่อมแซมส่วนที่ผิดปกติสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งบริเวณขากรรไกรล่างเพื่อที่จะสามารถนำไปดัดเพลทได้เหมาะสมและใกล้เคียงกับรูปทรงกระดูกขากรรไกรเดิม ก่อนติดแผ่นเพลทดามกระดูกให้ผู้ป่วย โดยผู้ป่วยได้รับการวัดและออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และได้รับการขึ้นรูปแบบจำลองสามมิติด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติก่อนการผ่าตัดรักษา