ความเป็นมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงประโยชน์ และศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอที (Information Technology: IT) ในการพัฒนาประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ด้อยโอกาส และได้ทรงริเริ่มให้จัดทำ “โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ขึ้นในปี พ.ศ.2538 โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักประกอบด้วย ผู้ด้อยโอกาสในสังคม 4 กลุ่มได้แก่ เด็กนักเรียนในชนบท ผู้พิการ เด็กเจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล ผู้ต้องขังและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
ในการดำเนินงาน มีคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธานกรรมการ ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นรองประธานกรรมการ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ รับผิดชอบการดำเนินงานตามแผน หรือประสานงานกับหน่วยงานที่ร่วมดำเนินโครงการ โดยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีนับจากเริ่มโครงการ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ แนวทางการดำเนินงาน และทรงติดตามงานในโครงการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องสมํ่าเสมอ
ตราสัญลักษณ์ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ในส่วนที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริว่าความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนเป็นสำคัญ จึงได้ดำเนิน “โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งมุ่งเน้นสนับสนุนให้บุคลากรทุกระดับ ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ นักวิจัย ให้มีโอกาสได้ไปเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่การดูงาน การเข้ารับการอบรม การทำวิจัย ตลอดจนการศึกษาต่อในระดับสูงตามศักยภาพและความสนใจของแต่ละคน เพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป โดยงานส่วนนี้ยังคงดำเนินภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ
ต่อมาในปี 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดตั้งมูลนิธิเพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยให้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ซึ่งได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิฯ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ
1. สนับสนุนการดำเนินโครงงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และโครงการพัฒนาอื่นๆ
2. ส่งเสริมการเรียน การสอน และการวิจัยด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และวิทยาศาสตร์
3. ส่งเสริมการพัฒนา สงเคราะห์ และช่วยเหลือประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และเทคโนโลยีสารสนเทศ
4. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยีฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อสนับสนุนด้านการสาธารณสุข และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศไทยทั้งผู้ป่วย ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส
5. ส่งเสริมและสนับสนุนการให้ทุนการศึกษาและการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
6. ดำเนินการใดๆ อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติเป็นส่วนรวม
7. ร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน และองค์การกุศล อื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
8. ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมือง
กิจกรรมที่ดำเนินการ
1. งานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและพัฒนาผู้ด้อยโอกาส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริว่า ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนเป็นสำคัญจึงได้ดำเนินงานโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯสยามบรมราชกุมารี ขึ้นโดยดำเนินงานด้านการวิจัยการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการพัฒนาการศึกษาและคุณภาพชีวิต
- ด้านการวิจัย สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์สถาบันวิจัยชั้นนำของโลกเพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมปฏิบัติการวิจัยเช่นวิจัยขั้วโลกความสัมพันธ์ไทย-เซิร์น ความร่วมมือไทยจู -โน เป็นต้น
- การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาครูและนักวิทยาศาสตร์ไทยได้ไปเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ตลอดจนการศึกษาต่อในสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาชั้นนำในประเทศต่างๆ เช่น นักศึกษา และ ครูฟิสิกส์ เข้าร่วมโครงการอบรมภาคฤดูร้อนที่เซิร์น, เดซี และ จีเอสไอ ทุนการศึกษาพระราชทานเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สถาบันการศึกษาชั้นนำในต่างประเทศเป็นต้น
- การพัฒนาการศึกษาคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสทางด้านการศึกษาให้แก่เยาวชนอย่างเท่าเทียมกันทั้งในประเทศและต่างประเทศเช่นไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนใช้ขอบการติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ในสถาบันเทคโนโลยี กำปงสปือ ราชอาณาจักรกัมพูชา และการช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนหลัก 67 สปป.ลาว เป็นต้น
- งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและพัฒนาผู้ด้อยโอกาส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลในอันที่จะนำเทคโนโลยีสาระสนเทศมาใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มโอกาสทางการศึกษาของประชาชนได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนในชนบทและเพื่อการพัฒนาผู้ด้อยโอกาส แก่ คนพิการ เด็กป่วยในโรงพยาบาล ผู้ต้องขัง และเยาวชนในสถานพินิจฯ
- เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัส ว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืนทรงให้ความสำคัญแก่เด็กและเยาวชนทุกกลุ่มจึงโปรดเก้าให้จัดทำโครงการเทคโนโลยีสาระฝสนเทศเพื่อเหื้อหนุนการศึกษาของเด็กและเยาวชนกลุ่มต่างๆ ได้แก่เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) กลุ่มโรงเรียนพระประปริยัติธรรม และ กลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม
- เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อผู้ด้อยโอกาส สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ห่วงใยและเอาพระราชหฤทัยใส่ ผู้พิการ ผู้ต้องขัง เด็กป่วยในโรงพยาบาล รวมถึงเด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสติปัญญาทรงใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มคนเหล่านี้ได้แก่เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการและเด็กป่วยในโรงพยาบาลเพื่อพัฒนาผู้ต้องขังและเพื่อพัฒนาเด็กและพัฒนาเยาวชนในสถานพินิจฯ ทรงพระราชทานแนวทางการดำเนินงานโครงการให้เน้นคุณภาพและความสัมฤทธิ์ผลมากกว่าปริมาณ เน้นการเอาใจใส่และติดตามอย่างจริงจังมากกว่าการใช้วัตถุหรืออุปกรณ์ เน้นการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทำให้การพัฒนาเหมาะสมกับสภาพของประเทศไทยและท้องถิ่น เน้นความสมดุลย์พอดีในหลายๆ มิติ มากกว่าการนำความเจริญเข้าไปอย่างรวดเร็วจนอาจเกิดอาการข้างเคียงอื่นที่ไม่พึงประสงค์กับชุมชน และให้ถ่ายทอดส่วนที่สำเร็จด้วยดีแก่หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ หรือเกี่ยวข้องโดยตรงในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้รับช่วงต่อและนำไปเป็นต้นแบบและเผยแพร่ต่อไป
พระนามและรายนาม
คณะกรรมการและที่ปรึกษามูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
1.สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี | องค์ประธานกรรมการ |
2.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ | กรรมการ |
3.นายบุญรักษ์ สรัคคานนท์ | กรรมการ |
4.นายมินทร์ อิงค์ธเนศ | กรรมการ |
5.นายกฤษณพงศ์ กีรติกร | กรรมการ |
6.นางสาววันทนีย์ พันธชาติ | กรรมการ |
7.นางสาวทินสิริ ศิริโพธิ์ | กรรมการ |
8.คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ | กรรมการและเหรัญญิก |
9.นางสาววิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ | กรรมการและรองเหรัญญิก |
10.นายไพรัช ธัชยพงษ์ | กรรมการและเลขาธิการ |
11.นายทวีศักดิ์ กออนันตกูล | กรรมการและรองเลขาธิการ คนที่ 1 |
12.นางชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล | กรรมการและรองเลขาธิการ คนที่ 2 |
รายนามที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ
1. นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์
2. นายดิลก คุณะดิลก
3. นางสาวชนม์ชนัมม์ สุนทรศารทูล
ตราสัญลักษณ์ของมูลนิธิ
Download รูปภาพ : .jpg | .png | .ai