แนวทางการทรงงานด้านการศึกษาและการพัฒนาเยาวชน
ตามพระราชดำริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์
กรรมการและเลขาธิการ
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ความดี คืออะไร ? ผมจะนำเอาตัวอย่างที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี รับสั่งให้ผมและกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศฯไปช่วยเหลือคนพิการ คนด้อยโอกาส บางคนเกิดมาไม่มีแขนมีขาไม่มีตอแขนขาที่ยื่นออกมาที่จะต่อแขนขาเทียมได้ บางคนเกิดมาปากเปิดไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไรให้เขามีชีวิตอยู่ได้ ให้ครอบครัวเขาอยู่ได้ สามารถเล่าเรียนหนังสือได้ ถ้าเขาเรียนได้ ศึกษาได้ เขาก็มีอาชึพที่เหมาะสมเลี้ยงตนเองได้ไม่เป็นภาระผู้อื่น นอกจากนี้จะมีเรื่องความช่วยเหลืออื่นๆต่อคนด้อยโอกาสอีกด้วยก่อนอื่นผมจะเล่าความป็นมาของมูลนิธิเทคโนลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯก่อน
1. มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน และโปรดเกล้าฯ ให้ผมเป็นกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ พระองค์ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ 2 ครั้งในเดือนมีนาคมของทุกปีเพื่อทรงทราบผลงานความก้าวหน้าของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ
ตราสัญลักษณ์
“โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯนั้น โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2538 เริ่มให้เป็น “โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ก่อนซึ่งเป็นยุคที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือและโทรศัพท์ปกติที่ใช้กันตามบ้านหรือสำนักงานก็หายาก อินเทอร์เน็ตก็พึ่งจะมาถึงเมื่องไทย พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริ ว่า เมื่ออินเทอร์เน็ตมาถึงแล้วคนที่จะมีโอกาสได้ใช้อาจมีแต่คนในเมืองอีกหรือไม่ ด้งนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศไปพัฒนาชีวิตของผู้ด้อยโอกาส 4 กลุ่ม คือ 1) เด็กนักเรียนที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารในชนบท 2) คนพิการ 3) เด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล เพราะว่าเมื่อเวลาเจ็บป่วยเด็กก็จะเหงา ก็ให้เอาเกมไปให้เล่น และให้ กศน.ไปช่วยสอนหนังสือ เวลาออกจากโรงพยาบาลแล้ว ก็สามารถไปเรียนหนังสือต่อได้ และ 4) ผู้ต้องขังที่อยู่ในทัณฑสถาน หรือเยาวชนที่หลงผิดอยู่ในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน ก็ให้นำคอมพิวเตอร์ไปช่วยสอน ออกมาก็เรียนหนังสือต่อได้ดำรงชีวิตต่อไปได้ ทั้งนี้รัฐบาลได้ถวายเงินจากการออกสลากกินแบ่งงวดพิเศษจำนวน 400 ล้านบาทเป็นการเริ่มต้นและต่อมาก็มีผู้จิตศรัธทาถวายเงินเพิ่มเติมอีกตามลำดับ
ตราสัญลักษณ์
“มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”
ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 เริ่มดำเนินการโครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นอีกด้วย ในปี พ.ศ. 2558 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนจากโครงการเป็นมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี”
2. การช่วยเหลือคนพิการ
น.ส.ตอยยีบะห์ ทำงานในตำแหน่ง
นักจัดรายการวิทยุประจำสถานีวิทยุจ.นราธิวาส
กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้มีรับสั่งให้ลงพื้นที่ที่โรงเรียนบ้านปลักปลา จ. นราธิวาส ไปให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงคนหนึ่งชื่อ ตอยยีบะห์ สือแม ผู้พิการที่ไม่มีแขนขาปราศจากตอแขนขาที่จะต่อแขนขาเทียมได้ แต่สมองยังดีอยู่ตั้งแต่เด็กชั้นประถม แม่ทำงานเป็นแม่บ้านที่โรงเรียน แม่ก็จะขี่มอเตอร์ไซค์มีตอยยีบะห์นั่งด้านหลังแต่มีผ้าผูกติดกับแม่ไว้นำไปเรียนหนังสือด้วย มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้มอบคอมพิวเตอร์ไปช่วยในการเรียน แม้นไม่มีแขนแต่ก็สามารถใช้แท่งพลาสติกเบา (head stick) ผูกติดกับแถบรอบศีรษะ (head band) กดปุ่มอักษรบนแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์ได้รวมทั้งใช้ลูกกลมควบคุม (trackball) ด้วยไหล่แทนเมาส์ (mouse) เคลื่อนตัวชี้ตำแหน่ง(curser)บนจอคอมพิวเตอร์เป็นอย่างดี ผลการเรียนดีทำให้เติบโตไปเรียนต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนนราสิกขาลัยในตัวจังหวัดนราธิวาสได้ ขณะนั้น คุณหญิงกษมา วรวรรณซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยและทำลิฟต์ให้ตอยยีบะห์ไปห้องเรียนในแต่ละชั้นของโรงเรียนเรียนได้ ตอยยีบะห์เดินไม่ได้ก็ได้รับรถเข็นไฟฟ้าควบคุมได้สำหรับคนพิการ เมื่อจบขั้นมัธยมศึกษาตอยยีบะห์ก็ได้เข้าเรียนจนจบระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ปัจจุบันทำงานที่ศาลากลาง จ.ปัตตานี ในตำแหน่งนักจัดรายการวิทยุประจำสถานีวิทยุ จ.นราธิวาส จะเห็นได้ว่ากรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระเมตตาและรับสั่งให้พวกเราลงดำเนินการช่วยเหลือ ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่านทุกหน่วยงานก็ช่วยกันทำงานถวายร่วมกันทำความดีช่วยเหลือชีวิต 1 ชีวิต ซึ่งตอนนี้ตอยยีบะห์ก็ทำงานได้ดี นอกจากไม่เป็นภาระผู้อื่นและสังคมแล้วยังหาเงินช่วยเหลือครอบครัวได้อีกด้วย
คนที่ 2 เป็นเด็กชายเอ(ชื่อสมมติ) อายุ 12 ปีมีความพิการปราศจากแขนและขาทั้งสองข้างตั้งแต่กำเนิด ไม่มีตอแขนขาจึงสามารถต่อแขนขาเทียมได้เช่นกัน ด.ช. เอได้รับรถเข็นไฟฟ้าจาก สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ ปัจจุบันด.ช. เอเรียนอยู่โรงเรียนวัดเชิงเขาจ. นราธิวาส มีผลการเรียนดี เกรดเฉลี่ย 3.83 สอบได้ลำดับที่ 7 ของห้องจากนักเรียน 20 คน และมีแผนเข้าศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนราสิกขาลัย จ.นราธิวาส ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ครูโรงเรียนวัดเชิงเขาที่มีการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On-hand ได้นัดให้ผู้ปกครองมารับแบบฝึกหัดและใบงานไปทำที่บ้านและนำงานมาส่งที่โรงเรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนมารดานั้นสำนักงานประมงอำเภอได้มอบพันธุ์ปลาดุก 400 ตัว พร้อมอาหารปลาดุก 3 กระสอบ เพื่อช่วยให้มีงานทำและลดค่าใช้จ่ายเป็นค่าอาหารในครอบครัวด้วย
คนที่ 3 ด.ช.บี(นามสมมติ) วัย 5 ขวบ เกิดมาน่าสงสารนั่งไม่ได้เลย เพราะหัวกระดูกต้นขาหลุดจากเบ้าข้อสะโพก จึงได้รับการผ่าตัดแก้ไขการยึดติดของข้อสะโพก ทำให้ปัจจุบันสามารถนั่งทรงตัวได้เองแม้นต้องพิงหมอนสามเหลี่ยมก็ตาม ยืนและเดินได้แม้นต้องมีราวจับหรือเครื่องช่วยเดิน (walker)
ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2565 มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ได้ให้ความช่วยเหลือคนพิการ รวม 24 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม A สามารถดำรงชีวิตประจำวันดูแลตนเองได้ มีอาชีพและเข้าสู่สังคมได้ จำนวน 12 คน กลุ่ม B ครอบครัวสามารถดูแลได้ แต่ยังต้องการการฟื้นฟูและการช่วยเหลือบางด้าน จำนวน 4 คน กลุ่ม C ที่ยังต้องติดตามให้การช่วยเหลือในทุกด้านอย่างต่อเนื่อง จำนวน 5 คน และมีคนพิการที่ถึงแก่กรรม จำนวน 3 คน
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ล้วนเป็นความดีอย่างหนึ่งที่พระองค์ท่านทรงประกอบพระราชกรณียกิจและพวกเราไปช่วยกันโดยต้องอาศัยพระบารมีพระองค์ท่านได้หลายหน่วยงานมาช่วยกัน หมอก็ช่วยเหลือกันทำให้เด็กทุกคนแข็งแรงขึ้น สามารถเคลื่อนไหวได้ และต่อไปก็จะได้รับการศึกษาประกอบอาชีพตนเองได้ไม่เป็นภาระผู้อื่นและสังคมทำนองเดียวกับตอยยีบะห์
3.ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกระโหลกศรีษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยและศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศรีษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ด.ญ. ซี(นามสมมติ) เป็นชาวจังหวัดปัตตานี ขณะนี้วัย 3 ขวบ เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2563 มารดาของ นำด.ญ.ซี ขณะอายุ 9 เดือน ได้มีโอกาศเข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชการีเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือณ ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ทรงรับ ด.ญ.ซีไว้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ เด็กคนี้มีความพิการแขนและขาทั้งสองข้างขาดหายบางส่วนและพิการบนใบหน้าเหงือกติดกันไม่สามารถอ้าปากรับประทานอาหารได้ตั้งแต่กำเนิดต้องใช้สายยางป้อนอาหารหน้าท้อง ต่อมาเด็กคนนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากกรมสมเด็จพระเทพฯ ให้ทางศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกระโหลกศรีษะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ช่วยเหลือผ่าตัดเพื่อแยกขากรรไกรบนและล่างให้สามารถอ้าปากกว้างได้ประมาณ 2 ซม. และได้พบว่าไม่มีลิ้นเห็นเป็นติ่งเล็กน้อยและไม่มีเพดานปากแม้นแพทย์ต้องดูแลแก้ไขต่อไปแต่สามารถเริ่มรับประทานอาหารทางปากได้
นอกจากนี้ยังโปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศรีษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่”อีกด้วยนอกเหนือจากที่รพ. จุฬาลง กรณ์ดังกล่าวมาแล้ว พระองค์ท่านทรงมีรับสั่งว่าเด็กที่เกิดมาปากแหว่งเพดานโหว่นั้น ถ้าเราไม่เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขเด็กก็จะมีปมด้อยไปตลอดชีวิตเข้าสังคมไม่ได้ เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ทรงเสด็จเปิด “ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศรีษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ซึ่งได้ทรงพระราชทานเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติเคลื่อนย้ายได้เรียกว่าโมบีแสกน(Mobii Scan)วิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยไทยที่เนคเทค สวทช ช่วยถ่ายภาพกะโหลกศีรษะ 3 มิติช่วยในการวางแผนก่อนการผ่าต้ดได้อีกด้วย พระราชทานเครื่องยึดกะโหลกหลังผ่าตัด(Rigid External Distractor) ที่ใช้ช่วยยึดใบหน้าที่ให้เข้าสู่สภาพปกติอีกด้วย ซึ่งศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศรีษะ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แห่งนี้ดูแลครอบคลุม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนจนปัจจุบัน
4.การพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรม
คนด้อยโอกาสอีกประเภทหนึ่ง คือ คนที่อยู่ต่างจังหวัดที่ห่างไกลในชนบทที่กันดาร ด้อยโอกาสด้านการศึกษาไอที วัตถุประสงค์ของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ คือ ได้ขอให้อาจารย์ทั้งหลายได้ไปสอนให้รู้จักการทำโครงการจากบอร์ดคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กชื่อว่า “คิดไบรท์ (KidBright) ” วิจัยและพัฒนาโดยนักวิจัยไทยที่เนคเทค สวทช คิดไบรท์ร่วมกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ช่วยให้เด็กนักเรียนเขียนโปรแกรมได้ เด็กก็ได้ฝึกด้วยตนเองทำเครื่องช่วยรดน้ำผักอัตโนมัติเป็นต้นและอื่นๆแล้วแต่จะคิดขึ้นเองได้ ทุกปีก็จะมีการแข่งขันกันแบ่งเป็นภูมิภาค เด็กเหล่านี้นอกจากโรงเรียนสามัญแล้วยังเป็นสามเณรจากโรงเรียนพระปริยัติธรรม นักเรียนจากโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม รวมทั้งสิ้นมากกว่า 70 โรงเรียนแข่งขันกันประกวดกันเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผู้ชนะที่ผลงานดีก็ได้มีโอกาสได้รับทุนเข้าศึกษาในโครงการพิเศษ (portfolio) ระดับมหาวิทยาลัยจนจบปริญญาตรีในโควตาพิเศษที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี สถาบันจัดการปัญญาภิวัฒน์ ลดช่องว่างทางการศึกษา เรียนเรียนจบมีงานทำเขาก็เป็นกำลังช่วยกันพัฒนาประเทศชาติและเป็นคนดีของสังคมต่อไป
5.โครงการผลิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และไอซีทีชุมชนชายขอบ
ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ โรงเรียน ตชด. เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบพระชนมพรรษา – บ้านหม่องกั๊วะ จ.ตาก
กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีรับสั่งว่า ทำอย่างไรนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนถึงจะได้เรียนคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าจะเรียนคอมพิวเตอร์หากไม่มีไฟฟ้าก็ไม่สามารถทำได้ ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็เข้าไม่ถึงเพราะอยู่ไกลมาก ที่จะทำได้คือระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เรียกสั้นๆว่าระบบโซลาเซลล์ซึ่งเดี๋ยวนี้คนไทยรู้จักกันทั้งนั้น แต่ที่คนทั่วไปไม่ทราบคือในอดีตจนปัจจุบันเมื่อมีการติดตั้งระบบโซลาร์ในที่ห่างไกลนั้น เมื่อติดตั้งแล้วจะทิ้งให้ร้างจนหมดสภาพปราศจากการบำรุงรักษาทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณ ติดตั้งใหม่อีกก็เริ่มต้นกันใหม่แล้วปล่อยให้ร้างอีกสิ้นเปลืองงบประมาณกันอีก สาเหตุคือเมื่อติดตั้งแล้วไม่ทราบว่ายังใช้งานได้ปกติอยู่ทุกวันหรือไม่เพราะขาดการส่งข้อมูลจากระบบโซลาร์มายังผู้ติดตั้งและบำรุงรักษา มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระรดำริฯพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดซ้ำซากนี้ ตอนแรกก็ใช้การรายงานเป็นกระดาษจากระบบของ กศน.จากโรงเรียนมายังกรุงเทพฯ แต่ไม่เป็นผลไม่สม่ำเสมอไม่ต่อเนื่อง จึงหันไปใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่าระบบโทรมาตร (telemetry) คือ ส่งข้อมูลที่ตรวจวัดได้ทั้งหมดจากระบบโซลาร์ที่ติดตั้งในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ห่างไกลใกล้ชายแดนเมียนมาร์ มายังกรุงเทพได้ นักวิจัยจากเนคเทค สวทช. สามารถทราบสถานภาพของระบบทุกส่วนทั้งตัวโซลาร์เซลล์เอง สถานภาพแบตเตอรี่ ปริมาณแสงแดดแต่ละวัน พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตไปใช้และบรรจุลงในแบตเตอรีตลอด 24 ชั่วโมงทำให้ทราบว่าเมื่อไรจะต้องเข้าไปแก้ไขบำรุงรักษาไม่ปล่อยให้หมดสภาพแล้วไปลงทุนติดตั้งใหม่ทั้งระบบเสียตรงไหนเมื่อไรก็แก้ไขตรงนั้นให้ทันเวลาประหยัดงบประมาณ
จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ให้แก่ครูจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (รร.ตชด.) ในพื้นที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายที่ 34 จังหวัดตาก จำนวน 10 แห่ง เป็นรร.ตชด.ในพื้นที่นำร่องของโครงการไอซีทีสำหรับชุมชนชายขอบ จำนวน 5 แห่ง
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จึงประสบความสำเร็จทำในสิ่งที่คนอื่นทำไม่ได้คือ การบำรุงรักษาและที่สำคัญคือ เปลี่ยนแบตเตอรีทุกระยะ 3-5ปี เราก็มีนักวิจัยจากเนคเทค สวทชช่วยกันทำ ครูที่รร. ตชด. ก็ช่วยกันด้วยและหน่วยงานที่น่าชมเชย คือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ได้ให้การสนับสนุนแบตเตอรีและการบำรุงรักษาส่วนอื่นของระบบโซลาเซลล์อีกด้วย นอกจากนี้บริษัท AIS ได้เข้าไปติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตไปยังโรงเรียนและชุมชนรอบๆรร.ตชด.อีกด้วย ทำให้สามารถใช้ระบบโทรมาตรได้อย่างเสถียร ชาวบ้านก็ติดต่อเราได้ผ่านมือถือรวมทั้ง สามารถแจ้งปัญหาของระบบผ่านไลน์ได้ ชาวบ้านเก็ติดต่อกันเองกับคนอื่นทั่วประเทศไทยผ่านมือถือได้
อบรมการจัดทำ ตะเกียงโซลาส่องสว่างด้วย LED
ปัจจุบัน ( ณ พ.ศ.2565) มีนักเรียน 3,000 คน ได้รับประโยชน์ ครู 200 คน ประชากร 12,000 คน ครัวเรือน 2,500 หลัง เด็กไม่ใช่แค่ได้เรียนหนังสือเรียนรู้คอมพิวเตอร์นั้น มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ยังได้สอนชาวบ้านให้รู้จักทำตะเกียงโซลาซึ่งส่องสว่างด้วย LED ราคาไม่เกิน 1,000 บาทต่อตะเกียงหนึ่งตัว ชาวบ้านมาชาร์ตไฟฟ้าเข้าตะเกียงจากระบบแบตเตอรีของโรงรียนเพื่อนำกลับไปที่บ้านให้แสงสว่างในช่วงเวลากลางคืนได้ นอกจากนี้ยังมีการฝึกทักษะอาชีพด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะส่งขายสินค้าและระบบแพทย์ทางไกลที่ไม่มีเวลากล่าวในที่นี้อีกด้วย
6.โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้า แขวงเวียงจันทน์ หลัก 67
ผมและคณะทำงานจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯตามเสด็จกรมสมเด็จพระเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2558 พระองค์ท่านเสด็จเยือน”โรงเรียนวัฒนธรรมชนเผ่าเด็กกำพร้า แขวงเวียงจันทน์ หลัก 67” ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อไปเป็น “โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก67” ซึ่งได้พระราชทานคอมพิวเตอร์ให้แก่ห้องเรียนในโรงเรียนดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้วแต่เสด็จไปทรงตรวจความก้าวหน้าการใช้คอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในอาคารที่พระราชทานเช่นกันชื่อว่า “เลิศมิตร” ก่อนเสด็จกลับพระองค์ท่านมีรับสั่งว่า สังเกตกันไหมว่าโรงเรียนแห่งนี้มีการเรียนการสอนวิทยศาสตร์แต่ไม่มีห้องปฏิบัติการ พระราชกระแสก็คือช่วยให้เขามี ห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ให้ได้ ผมอาศัยความเป็นนักวิจัย ชอบทำอะไรที่ไม่เคยทำและทำให้เป็นจริงได้ จึงได้รับใส่เกล้าไปปรึกษา สสวท.ซึ่งชำนาญเรื่องหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์รวมทั้งด้านอุปกรณ์ปฏิบัติการทดลองอีกด้วย รองผอ.สสวท. ชื่อดวงสมร คล่องสาราซึ่งรู้จักและทำงานถวายด้านอื่นมาด้วยกันได้ให้คำแนะนำว่าควรไปศึกษาที่โรงเรียนสามเสนซึ่งเมื่อไปพบผู้อำนวยการโรงเรียนและได้ตรวจเยี่ยม ผมก็ประทับใจมาก มีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา เต็มรูปแบบที่ใช้ได้ดีมาก และท่านผอ.โรงเรียนยังแนะนำว่าผมควรติดต่อไปยังโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ.หนองคาย เพราะความสามารถเขาก็ดีเท่าโรงเรียนสามเสนนอกจากนี้ยังสามารถพูดสื่อสารภาษาลาวได้อีกด้วย ผมก็เห็นด้วยและไปดูที่โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร ผมก็พอใจมาก มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จึงได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงาน กปร. สำนักงานชลประทานที่ 5 จังหวัดอุดรธานีซึ่งมีงบประมาณทำการก่อสร้างอาคาร และพระองค์ท่านได้พระราชทานชื่อว่า “มั่นมิตร” โดยจะมีห้องฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยาด้วยอุปกรณ์ วัสดุและหนังสือจากสสวท.ติดตั้งในอาคารนี้ นักเรียนดีใจมากที่มีโอกาสทำ การทดลองตามเอกสารคู่มือ ในช่วงโควิด-19 ก็ได้เรียนออนไลน์ ติดต่อกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ทางออนไลน์ได้ สถานทูตไทยในลาวก็ได้ร่วมกันทำงานถวายด้วย ปัจจุบันโรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 ได้ปรับปรุงจากเดิมสอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1-7เหลือเพียงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 – 7 เท่านั้น นักเรียนราว 500 คน ครู 68 คน เป็นครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโนโลยี 23 คน ในการสอบแข่งขันในแขวงโพนฮงเด็กนักเรียนก็สอบได้ที่ 1 ในวิชาฟิสิกส์และเคมี โรงเรียนเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดัง มีคนอยากมาเรียนมากขึ้นทุกปี และในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ทางมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ไม่สามารถเดินทางไปที่ สปป.ลาวได้ จึงได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศผ่านทางสถานทูตไทยในสปป.ลาวช่วยในการส่งวัสดุทดลองและหนังสือไปให้ได้เรียนต่อเนื่อง และได้เริ่มเปิดการอบรมให้ทางโรงเรียนและได้มาทำโครงการที่ประเทศไทยคล้ายในข้อ4ดังกล่าวข้างต้นอีกด้วย
7.โครงการนักเรียนทุนพระราชทานศึกษาต่างประเทศ
นักศึกษาที่ได้รับทุนการในโครงการการคัดเลือกผู้แทนเยาวชนไทยเข้าร่วมโครงการและกิจกรรมระดับนานาชาติ ประจำปี 2566 เข้าเฝ้าฯ กราบถวายบังคมลาก่อนออกเดินทางไปศึกษา
ในการเสด็จเยือนมหาวิทยาลัยในต่างประเทศนั้น ผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีความเลื่อมใสในพระองค์ท่านอย่างมากจึงได้ถวายทุนการศึกษาเพื่อทรงพิจารณาพระราชทานให้กับนักเรียนไทยได้ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านี้อีกด้วย มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีอานเจียวตง(Xi’an Jiaotong University) สาธารณรัฐประชาชนจีน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง(Nanyang Technological University) สิงคโปร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจดับบลิน(University College Dublin) ไอร์แลนด์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบสิงคโปร์(Singapore University of Technology and Design) สิงคโปร์ มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยซุงคยุนกวาน(Sungkyunkwan University) เกาหลีใต้ และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสโกลโกโว(Skolkovo Institute of Science and Technology) เรียกย่อๆว่าสโกลเทค(Skoltech) รัสเซีย เราจะเห็นว่าหลากหลายนานาประเทศ ทุนที่ถวายก็จะเป็นทุนเรียนปริญาโทและปริญญาเอก มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศฯได้รับพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมอบหมายให้ดำเนินการประกาศรับสมัคร สาขาวิชาที่ต้องการ และมีกรรมการสัมภาษณ์คัดเลือกผู้สมัครอย่างรอบคอบมีทั้งความรู้และคุณสมบัติที่จะไปศึกษาต่อได้ กรรมการจะคัดเลือกเบื้องต้นให้จำนวนเกินกว่าที่ต้องการแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้ายเลือกให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการ นักศีกษาที่ทรงคัดเลือกแล้วจะได้มีโอกาสเข้าไปกราบทูลลาและรับพระราโชวาท นับตั้งแต่ปี 2552 – ปัจจุบัน(พ.ศ. 2565) มีผู้ที่ได้รับทุนจำนวน 96 คน สำเร็จการศึกษา 68 คน กำลังศึกษา 20 คน และมีเหตุจำเป็นต้องลาออก 8 คน เนื่องจากได้ทุนอื่นและไปประกอบอาชีพอื่น
8.ความสัมพันธ์ไทย – เซิร์น
เซิร์น เป็นหน่วยงานที่จัดตั้งภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์ เพื่อวิจัยค้นหาอนุภาคที่ไม่รู้จักมาก่อน(อนาคที่คนทั่วไปรู้จักก็ได้แก่อิเล็กตรอน นิวตรอน โปรตรอนเป็นต้น) พระองค์ท่านทรงโปรดเกล้าฯให้มีการคัดเลือก(1)นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีละ 12 คน พร้อมครูผู้ควบคุม 2 คน (2) ครูฟิสิกส์ ปีละ 2 คน และ(3) นักศึกษาระดับปริญญาตรีปีละ 4 คน ส่งไปที่เซิร์นในฤดูร้อนของยุโรปทุกปีและใช้เวลาที่นั้นสูงสุดน้อยที่สุด 1 สัปดาห์และสูงสุด 12 สัปดาห์แล้วแต่ลักษณะของโครงการ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการเสด็จเยี่ยมเซิร์นถึ ง 6 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2562 พระองค์ท่านเสด็จทอดพระเนตรเครื่องตรวจหาอนุภาคทั้งที่ CMS และ ALICE ซึ่งเป็นจุดทดลองที่เร่งให้อนุภาคมีความเร็วสูงใกล้ความเร็วแสงมากที่สุดวิ่งสวนทางกันแล้วให้ชนกันเกิดอนุภาคใหม่ที่ CMS และ ALICE เครื่องเร่งอนุภาคนั้นมีลักษณะเป็นท่อวงกลม 2 ท่อแต่ละท่อมีอนุภาคความเร็วใกล้แสงวิ่งสวนทางกันเครื่องเร่งนี้ชื่อว่า”เครื่องชนอนุภาคฮาดร็อนขนาดใหญ่ (LHC: Large Hadron Collider)”เส้นรอบวง 27 กิโลเมตรอยู่ในอุโมงค์ลึกใต้ผิวดิน 100 เมตร อยู่ในพรมแดนทั้งสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส
9.การประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา เยอรมนี
เมืองลินเดา อยู่ทางตอนใต้ของเยอรมนี มีการจัดการประชุมผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบล และได้มีการคัดเลือกนักวิจัยจากนานาชวติให้ไปร่วมพบผู้ได้รับรางวัลโนเบลทุกปี เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระหว่างปลายเดือนมิถุนายน – ต้นกรกฎาคม หมุนเวียนในแต่ละปีไปตามสาขาวิชาฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยา (หรือแพทยศาสตร์) พระองค์ทรงทราบเรื่องนี้และมีพระราชประสงค์ที่จะให้นักศึกษาและนักวิจัยไทยที่เป็นเยาวชนได้เข้าร่วมประชุมกับผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา เยอรมนีนี้ ด้วยพระบารมีของพระองค์ท่านทำให้มีนักศึกษาและนักวิจัยไทยได้เข้าร่วมประชุมปีละ 6 คน ทำให้มีโอกาสร่วมพบปะกับผู้ได้รับรางวัลโนเบล ประมาณ 50 – 60 คน และเยาวชนนักศึกษานักวิจัยระดับปริญญาตรี – เอกที่เข้าร่วมจากทั่วโลกประมาณ 500 คน ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลนอกจากจะบรรยายแล้วยังเปิดโอกาสให้มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษานักวิจัยที่เข้าร่วมอย่างเป็นกันเองเพื่อกระตุ้นให้เยาวชนที่เข้าร่วมจากทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และทำงานร่วมกันเพื่อค้นหาสิ่งใหม่ เยาวชนไทยนั้นได้รับการคัดเลือกเบื้องต้นจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยค้ดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย ผู้ได้รับการคัดเลือกจากพระองค์ท่านนั้นจะได้มีโอกาสไปเข้าเฝ้าที่ลินเดาด้วย ทั้งนี้เพราะพระองค์ท่านเสด็จเข้าร่วมการประชุม 12 ครั้ง ตั้งแต่ 2551 ถึง 2566 (ยกเว้นปี 2555ที่ทรงมีพระราชกรณียกิจจำเป็น และ2563, 2564,2565ที่มีการระบาดของ COVID-19)
ในปี 2553 มูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดาได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภากิตติมศักดิ์ (สภาสูง) ของมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ณ หอประชุมอินเซลฮัลเล เมืองลินเดาในพิธีเปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล เมื่อ 27 มิถุนายน 2553 ซึ่ง พระองค์ทรงมีสุนทรพจน์ในพิธีทูลเกล้าถวายตำแหน่งข้อความตอนหนึ่งว่า “I am glad to learn that this Meeting will cover the issue of science education and the responsibility of scientists on sustainable development of our world, which I think are very important in the age of globalization.”
โดยสรุป (1) สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงตระหนักถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีรวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่น ในการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส จึงได้ทรงริเริ่มให้จัดทำ “โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ในปี พ.ศ.2538 ต่อมาในปี พ.ศ. 2552เป็นต้นมาได้ขยายไปยังวิทยาศสาตร์และเทคโนโลยีอื่นอีกด้วย ในปี 2558 รับสั่งให้เปลื่ยนชื่อจากโครงการเป็นมูลนิธิชื่อว่า “มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” (2)การช่วยเหลือคนพิการกรณีศึกษาตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปัจจุบัน (2565) รวม 24 คน (3) ศูนย์สมเด็จพระเทพรัตนฯ แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะรพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยนั้นได้มีการจัดตั้งมาก่อน ต่อมาโปรดเกล้าฯให้มีการจัดตั้ง ศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (4)โครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ (5)โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และไอซีทีชุมชนชายขอบดำเนินการตั้งแต่2551 – ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 23 แห่ง (6) เมื่อ 8 ธันวาคม 2558 ทรงมีพระราชกระแสว่า โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 เรียนวิทยาศาสตร์เฉพาะทฤษฏี ยังขาดภาคปฏิบัติควรที่จะประสานงาน เพื่อพระราชทานความช่วยเหลือแก่โรงเรียนจนปัจจุบันมีครบถ้วนแล้ว(7)โครงการนักเรียนทุนพระราชทานศึกษามหาวิทยาลัยต่างประเทศ ได้แก่ XJTU, Skoltech, UCD, SUTD และ SKKU รวมจำนวน 96 คน ณ ปี2565และยังมีอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน(8)โครงการความสัมพันธ์ไทย – เซิร์น มีการคัดเลือกนักเรียนมัธยมศึกษาปีละ 12 คนพร้อมครูควบคุม2คน ครูฟิสิกส์ปีละ 2 คนและนักศึกษาระดับป.ตรีปีละ 4 คนและ(9)โครงการการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา เยอรมนี ตั้งแต่ 2551 ถึง 2565 มีนักวิจัยไทยเข้าร่วม 78 คน (ชาย 45 หญิง 33 คน)
ความดี คืออะไร คือการที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระเมตตาให้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปช่วยเหลือ 1) เด็กนักเรียนที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารในชนบท 2) คนพิการ 3) เด็กที่เจ็บป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาล(ไม่มีโอกาสกล่าวถึงในการบรรยายครั้งนี้) และ 4) ผู้ต้องขังที่อยู่ในทัณฑสถาน หรือเยาวชนที่หลงผิดอยู่ในสถานพินิจคุ้มครองเด็กและเยาวชน(ไม่มีโอกาสกล่วถึงในการบรรยายครั้งนี้) ความดีของพระองค์ท่านยังครอบคลุมไปถึงการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอื่นเข้าไปช่วยเหลือในโอกาสต่างๆอีกด้วย รวมทั้งการช่วยเหลือเยาวชนประเทศเพื่อนบ้านไทย เปิดโอกาสการให้โอกาสเยาวชนไทยได้เข้าไปศึกษาในมหาวิทยาลัยนานาชาติเข้าร่วมในโครงการวิจัยเช่นเซิร์นเป็นต้นและการประชุมนักวิทยาศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนอีกด้วย สมควรที่คนไทยและหย่วยงานทั้งหลายจะได้นำไปเป็นตัวอย่างช่วยเหลือคนไทยและเพื่อนบ้านต่อไป
* ถอดความจากการบรรยายพิเศษในการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ โครงการเยาวชนคนดี รู้หน้าที่ รู้คุณแผ่นดิน ปี 2566 วันที่ 21 ธันวาคม 2566 โดยศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร