TH  |  EN

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงเปิด “ศูนย์พัฒนลักษณ์” ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร
พร้อมพระราชทานเครื่อง MobiiScan เพื่อยกระดับการรักษาผู้ป่วย

     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเปิด “ศูนย์พัฒนลักษณ์” ณ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลและแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า โดยในการนี้ ทรงพระราชทาน เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ MobiiScan เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้อย่างแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น

     วันที่ 11  มีนาคม พ.ศ. 2568  เวลา 13.10 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากอาคารอุทยานองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  มหาวิทยาลัยนเรศวร ไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร และได้ถวายพวงมาลัย เพื่อเป็นราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี

     จากนั้นเสด็จ ฯ ถึงอาคารสิรินธร โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อไปยัง “ศูนย์พัฒนลักษณ์” ประทับพระราชอาสน์  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์พีระพงศ์  เธียราวัฒน์  รองคณบดีฝ่ายบริหารและประกันคุณภาพ เข้าเฝ้า ฯ ทูลเกล้า ฯ ถวายหนังสือ  ในโอกาสเดียวกันนี้  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิงพิริยา นฤขัตรพิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงาน 10 ปี ของสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ต่อมา  สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย  “ศูนย์พัฒนลักษณ์”  ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อหน่วยงานว่า “ศูนย์พัฒนลักษณ์” พร้อมทั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรเยี่ยมชมการแสดงผลงานเครื่องโมบีสแกน (MobiiScan) ที่ทรงพระราชทาน และผลการดำเนินงานของสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้าฯ โดยมี นางสาวสุชาดา ซาง แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นางสาววิลาวรรณ วนดุรงค์วรรณ กรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) ดร.เสาวภาคย์ ธงวิจิตรมณี นักวิจัยอาวุโส เนคเทค-สวทช. นางสาวอลิสา สุวรรณรัตน์ นักวิชาการอาวุโส สวทช. และนายปริญญา จันทร์หุณีย์ วิศวกรอาวุโส ร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จ

     สืบเนื่องจาก สถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานชื่อสถานรักษา ผ่านมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อแสดงความจงรักภักดีและเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เจริญพระชนมายุ 70 พรรษา ในวันที่ 2 เมษายน 2568

     ด้วยความทราบฝ่าละอองพระบาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานชื่อว่า “ศูนย์พัฒนลักษณ์” ซึ่งหมายถึง “ศูนย์ซึ่งเสริมสร้างลักษณะอันเจริญ” พร้อมทั้งพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อพระราชทาน เพื่อเป็นสิริมงคลและเกียรติยศแก่หน่วยงาน

     ผลการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 10 ปี ของสถานรักษาแก้ไขภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และความผิดปกติของศีรษะและใบหน้า มหาวิทยาลัยนเรศวร มีผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ จำนวนประมาณ 500 ราย มีการให้บริการด้านศัลยกรรมผ่าตัดแก้ไข ทันตกรรมจัดฟัน แก้ไขการพูด รวมทั้งสิ้น 2,688 ครั้ง โดยกลุ่มผู้ป่วย ได้แก่ กลุ่มทารกแรกเกิด จนถึงวัยผู้ใหญ่  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนในเขตสุขภาพที่ 2 และเขตสุขภาพที่ 3

     ในวโรกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องโมบีสแกน (Mobiiscan) ซึ่งเป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ 3 มิติ แบบเคลื่อนย้ายได้ จำนวน 1 เครื่อง เพื่ออำนวยประโยชน์อย่างยิ่งแก่คณะแพทย์ ในการวางแผน วินิจฉัย และรักษาผู้รับบริการทางการแพทย์ที่มีความผิดปกติบริเวณใบหน้า กะโหลกศีรษะ ขากรรไกร ตลอดจนการดูแลรักษาผู้ป่วยอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ

     เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติลำรังสีทรงกรวยแบบเคลื่อนย้ายได้ ภายใต้ชื่อ MobiiScan (โมบีสแกน) เป็นผลงานวิจัยและพัฒนาโดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งเครื่อง MobiiScan ได้ผ่านการทดสอบความปลอดภัยทางด้านรังสีจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทางด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์จากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และผ่านการทดสอบคลินิกเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 13485 และได้รับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีคุณสมบัติเด่น คือ เป็นเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สามมิติแบบเคลื่อนย้ายได้ง่ายและผู้ป่วยได้รับปริมาณรังสีที่น้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์ ใช้ถ่ายอวัยวะภายในบริเวณใบหน้าและกะโหลกศีรษะ เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัดรักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและทันท่วงที ซึ่งเครื่อง MobiiScan ที่นำมาติดตั้งที่ศูนย์พัฒนลักษณ์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ในการสร้างเครื่อง MobiiScan  โดยมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชำริฯ ได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากมูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหมโรงแรมเอราวัณในการดำเนินการดังกล่าว