TH  |  EN

กรณีศึกษา : การพัฒนาผลงานวิจัยและพัฒนาสู่การเป็น BME 2.0

      ปี 2563 ภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ดำเนินการผลักดันและสนับสนุนผลงานวิจัยด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์สู่การเป็นธุรกิจ Start up โดยมีการจัดทำบัญชีรายการตรวจสอบสถานภาพการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ต้องผ่านขั้นตอนตั้งแต่การทดสอบทางคลินิก/การทดสอบตลาด (Clinical Trail/Market Test) การจดทะเบียนสถานประกอการ การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) การทดสอบมาตรฐานสากลสำหรับเทคโนโลยีไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (IEC Test Product) และการขึ้นบัญชีนวัตกรรม รวมทั้งการให้คำปรึกษาเพื่อการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์และการทำมาตรฐานกับเจ้าของธุรกิจที่มีประสบการณ์ การจับคู่โรงงานที่รับผลิตสินค้า (OEM: Original Equipment Manufacturer) ให้กับบริษัท Start up เรื่องการผลิต และการสนับสนุนออกบูธแสดงผลงานในงาน Intercare Asia 2020 (International Expo for Healthcare & Wellness) งานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับผู้สูงอายุและผู้พิการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ณ ไบเทค บางนา เพื่อเพิ่มยอดขายและเพิ่มโอกาสในการหาลูกค้า โดยมีหน่วยงานที่ร่วมให้การผลักดันและสนับสนุนผลงานสู่การเป็นธุรกิจ Start up ได้แก่ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. สำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กลุ่มเครือข่ายเครื่องมือแพทย์ Innovation Network Center สมาคมการค้าและบริการสุขภาพผู้สูงอายุไทย และกรมกิจการผู้สูงอายุ

  1. กรณีศึกษาการต่อยอดนวัตกรรมวิจัยไปใช้ประโยชน์สู่การเป็น Start up

     1.1 อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินพยุงน้ำหนัก (Space Walker) ผลงาน “อุปกณณ์ช่วยฝึกเดินพยุงน้ำหนัก” ของนายวรัตถ์ สิทธิ์เหล่าถาวร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถนำไปเผยแพร่ผ่านการจัดตั้ง บริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000,000 บาท ประกอบธุรกิจผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ในทางการแพทย์ (ยกเว้น ทันตกรรม) เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 (Gold Award) จากงาน (i-CREATe 2017) ชนะเลิศอันดับที่ 1 โครงการ ITCi Award 2017 หัวข้อ “นวัตกรรมสําหรับบ้านผู้สูงวัย” ชนะเลิศการประกวดสุดยอด SME & Startups ตัวจริง ปีที่ 6 (พ.ศ.2561) โดยธนาคารออมสิน และชนะเลิศการประกวด YoungD Startup โดยธนาคารไทยพาณิชย์ 

รายละเอียดผลงาน:
    • อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัดรวมถึงผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางการเดินจากโรคหลอดเลือดสมอง บาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการฝึกเดิน สร้างความมั่นใจและกล้าที่จะเดิน
    • ลดภาระการบาดเจ็บของผู้ดูแล ประสิทธิภาพการกายภาพบำบัดสูง ราคาเข้าถึงได้
    • เทคโนโลยีมีระบบกลไกพยุงน้ำหนักคนไข้ระหว่างเดิน ระบบป้องกันการหกล้ม ระบบช่วยยกขา และออกแบบมาให้เหมาะกับการฝึกที่บ้าน และโรงพยาบาล มาตรฐานผลิตภัณฑ์:
    • ใบจดทะเบียนสถานประกอบการผลิตเครื่องมือแพทย์
    • มาตรฐานทางด้านไฟฟ้าเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ IEC60601 การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์:
    • ยอดขายในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ปี 2563 (ตั้งแต่ 1 มกราคม – 11 พฤศจิกายน 2563) จำนวน 130 ตัว เป็นจำนวนเงิน 7.38 ล้านบาท

       1.2 รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้ (Standing Wheelchair) ผลงาน “รถเข็นคนพิการแบบปรับยืนได้” ของนายธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถนำไปเผยแพร่ผ่านการจัดตั้งบริษัท ซีเมด เมดิคอล จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2561 ทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000,000 บาท ประกอบธุรกิจจำหน่ายวีลแชร์ เป็นผลงานที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ราชันย์แห่งปัญญา ปี 2550 รองชนะเลิศอันดับ 1 International Convention for Rehabilitation Engineering & Assistive Technology (iCREATe) ปี 2551 รางวัล Gold Prize การประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ Seoul International Invention Fair 2012 ประกาศเกียรติคุณประเภทวิศวกรรมอุตสาหกรรมวิจัยและรางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้นจากสภาวิจัยแห่งชาติ ปี 2560

มาตรฐานผลิตภัณฑ์: 
    • เป็นเครื่องมือแพทย์ประเภทที่ 1 (ปัจจุบันผ่านมาตรฐานบังคับของทาง อย.) เลขที่ใบอนุญาต กท.สผ. 76/2563 รายละเอียดผลงาน:
    • ผู้ใช้สามารถปรับจากท่านั่งมาเป็นท่ายืนด้วยตัวเอง
    • ไม่มีชิ้นส่วนที่เป็นไฟฟ้า มีน้ำหนักเบา ใช้แทนวีลแชร์ปกติได้
    • สามารถยืนได้ในมุมที่ถูกต้องในแนวระนาบที่ 82 องศา
    • สามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากยิ่งขึ้น จากการยืนได้
    • ช่วยเหลือในด้านการประกอบอาชีพของผู้ใช้จากการที่สามารถยืนได้อีกครั้งหนึ่ง

การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์:

  • ยอดขายในหน่วยงานรัฐและเอกชน จำนวน 97 ตัว เป็นจำนวนเงิน 3.61 ล้านบาท

       1.3 BrainPlus โซลูชั่นฝึกสมองและระบบตรวจวัดสัญญาณคลื่นไฟฟ้าสมอง

ผลงาน “BrainPlus” ของนายกฤษณ์กร เยาว์มณี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับเนคเทค สวทช. สามารถนำไปเผยแพร่ผ่านการจัดตั้งบริษัท ออกัส คอมมูนิเทค จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2559 ทุนจดทะเบียนจำนวน 1,000,000 บาท ประกอบธุรกิจการวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล Gold medal award “Game based Neurofeedback cognitive training” from the 44th International Inventions Gene va 2016 และรางวัล Gold medal Award “Neurofeedback for cognitive/emotion training” from the Seoul International Inventions Fair 2017 มาตรฐานผลิตภัณฑ์: : IEC 60950-1 , CISPR 32 , CISPR 35

 

รายละเอียดผลงาน:
    • นวัตกรรมการฝึกสมองโดยใช้ระบบ Game-based Neurofeedback บนแพลตฟอร์ม BrainPlus
    • ใช้ความคิดควบคุมเกมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ใช้สมองควบคุมสั่งการ ซึ่งจะได้รับการพัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น
    • ช่วยชะลอการเกิดภาวะเสื่อมถอยของสมองหรืออัลไซเมอร์
    • ใช้งานง่าย โดยใช้องค์ความรู้ภายในประเทศทั้งหมด และมีงานวิจัยรองรับ
    • มีประสิทธิภาพสูงในการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์: คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งหมดที่ขายได้จนถึงปัจจุบันประมาณ 3 ล้านบาท โดยมีหน่วยงานที่ซื้อไปใช้ประโยชน์ ดังนี้
        • สถานพยาบาลหรือสถานฟื้นฟูเพื่อพัฒนาสมอง รพ.จุฬาฯ จำนวน 2 ชุด
        • สถาบันการศึกษาเพื่อการวิจัยทางด้านคลื่นไฟฟ้าสมอง มจธ. จำนวน 25 ชุด
        • ส่งออกต่างประเทศกว่า 20 ประเทศ โดยแพลตฟอร์ม Kickstarter และ Indiegogo ในช่วง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ประมาณ 100 เครื่อง (รุ่น Home Use)

       1.4 เตียงและที่นอนอัจฉริยะ ผลงาน “เตียงและที่นอนอัจฉริย” ของนายไพศาล สุขจรัส จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) สามารถนำไปเผยแพร่ผ่านการจัดตั้งบริษัท เบดเดอลี่ จำกัด จดทะเบียนบริษัทเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2561 ประกอบธุรกิจการผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ในทางการแพทย์ (ยกเว้นทางทันตกรรม)

รายละเอียดผลงาน:
    • เตียงและที่นอนอัจฉริยะสำหรับป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วยนอนติดเตียงและผู้สูงอายุ Sensor ชนิด Matrix Force Sensitive Sensor คอยตรวจจับแรงกดทับที่น้ำหนักตัวผู้ใช้กระทำลงต่อที่นอน
    • ใช้เทคโนโลยี Internet of Things โดยตัวเตียงมีกลไก 7 รูปแบบ
    • สามารถควบคุมจาก Mobile Application และตั้งการทำงานแบบอัตโนมัติได้
    • ในอนาคตจะพัฒนาโดยมี Sensor วัดแรงกดและใช้นวัตกรรม Machine Learning และ AI เข้ามาช่วยในการทำงานเต็มรูปแบบ

การนำไปใช้ประโยชน์ :
    • มียอดสั่งจองในปี 2563 จำนวน 50 ตัว จำหน่าย 55,000 บาท/เตียง

  1. ผลงานวิจัยด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

          2.1 ชุดตรวจโรค COVID-19 ด้วยเทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. และคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ร่วมกันพัฒนาชุดตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 โดยใช้เทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีในขั้นตอนเดียว (Colorimetric LAMP-XO) เพื่อใช้ตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัสในผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อไวรัส ได้รับมาตรฐานผ่านเกณฑ์การประเมินเทคโนโลยีจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถผลิตและจำหน่ายได้

คุณสมบัติและเทคโนโลยี:
    • มีความจำเพาะ (Specificity) 100% ความไว (Sensitivity) 92% และมีความแม่นยำ (Accuracy) ที่ 97%
    • แสดงผลได้ภายใน 75 นาที ได้ผลเร็วกว่า RT-PCR ถึง 2 เท่า
    • อ่านผลด้วยตาเปล่า ไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ (หากสีเปลี่ยนจากม่วงเป็นเหลือง แสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2)
    • ต้นทุนราคาของชุดตรวจที่พัฒนาขึ้นนี้มีราคาถูกกว่าชุดตรวจแลมป์นำเข้า 1.5 เท่า เป็นผลงานที่ได้รับรางวัล 1 ใน 20 ผลงานประกวดโครงการ “Rapid COVID Testing” ของมูลนิธิ XPRIZE (องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลก ดำเนินการระดมทุนแบบ Crowd Funding เพื่อแก้ปัญหาระดับโลกในมิติต่างๆ) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 และผ่านการทดสอบแข่งขันรอบสุดท้าย (Finalists) จาก 702 ผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันเบื้องต้นจากทั่วโลก ถือเป็นผลงานหนึ่งเดียวจากภูมิภาคเอเชีย ที่ได้รับคัดเลือกร่วมกับทีมนักประดิษฐ์จากสหรัฐอเมริกา อังกฤษและเยอรมนี โดยจะมีประกาศผลงานชนะเลิศ จำนวน 5 ผลงาน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 แต่ละผลงานจะได้รับรางวัลมูลค่า 5 แสนเหรียญสหรัฐ เพื่อให้นำไปใช้ผลิตและขยายผลชุดตรวจไปทั่วโลก

          2.2 เครื่องจ่ายแอลกอฮอล์ล้างมือแบบอัตโนมัติ เป็นผลงานวิจัยของ ม.สงขลานครินทร์ หลักการของเครื่องจะมีระบบเซนเซอร์ตรวจจับวัตถุและกลไกเพื่อกดให้หัวฉีดขวดแอลกอฮอล์จ่ายแอลกอฮอล์ออกมา และมีตัวเลขนับจำนวนครั้งการใช้งานเครื่อง พร้อมการแจ้งเตือนด้วยการกระพริบตัวเลขเมื่อแอลกอฮอล์ในขวดใกล้หมด การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์
    • ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ได้ประดิษฐ์เครื่องจ่ายแอลกอฮอล์ล้างมือแบบอัตโนมัติให้แก่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จำนวน 20 เครื่อง
    • ราคาต่อเครื่อง 1,500 บาท 

        2.3 ตู้ UVC กำจัดเชื้อบนหน้ากากอนามัย เป็นผลงานนวิจัยของ ม.รังสิต เป็นตู้อบฆ่าเชื้อบนหน้ากากอนามัยหลายชิ้นพร้อมกันได้ถึง 32 ชิ้น ด้วยเทคนิคการฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC ซึ่งเป็นรังสีอัลตราไวโอเลตชนิดหนึ่ง สามารถฆ่าเชื้อไวรัสและเชื้อไวรัสโคโรนาบนหน้ากากอนามัยได้ โดยไม่ทำให้ให้เกิดความเสียหายแก่โครงสร้างของเส้นใยในหน้ากากอนามัย สามารถนำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำใหม่ได้มากถึง 10 ครั้ง

การเผยแพร่และการนำไปใช้ประโยชน์:
    • ได้ทำการทดสอบเพาะเชื้อจากหน้ากากอนามัยจริง ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และมีการส่งมอบเพื่อนำไปใช้งานที่โรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน)
    • มาตรฐานชิ้นส่วนของอุปกรณ์ ผลิตขึ้นจากโรงงานสแตนเลสที่ได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรม 

           2.4 เครื่องช่วยหายใจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ร่วมกันออกแบบและพัฒนาเครื่องช่วยหายใจต้นแบบสำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีข้อกำหนดเบื้องต้น คือ เป็นเครื่องที่ใช้ในยามขาดแคลน เมื่อสถานการณ์ระบาดรุนแรงมากขึ้น เป็นเครื่องที่ผลิตได้ง่ายและรวดเร็ว โดยใช้เครื่องมือที่ทางสถาบันมีอยู่ ต้องมีระบบ safety และคุณสมบัติตามมาตรฐาน ปัจจุบันเครื่องช่วยหายใจที่พัฒนาขึ้นมีสมบัติ ดังนี้
    • ออกแบบและพัฒนา air circuit โดยใช้ proportional valve แทน solenoid valve เพื่อสามารถควบคุมแรงดันและการไหลของอากาศในระบบได้ดียิ่งขึ้น
    • ใช้ชิ้นส่วนที่เป็นเกรดอุตสาหกรรมหรือการแพทย์
    • แยกส่วนควบคุมอากาศในส่วน (low level) ที่ใช้ไมโครคอนโทลเลอร์เป็นตัวควบคุมการทำงาน ออกจากส่วน user interface ที่ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม เพื่อทำให้ระบบสามารถทำงานอยู่ได้ถ้าหากคอมพิวเตอร์เกิดข้อผิดพลาด

  1. กรณีศึกษาการนำผลงานวิจัยและพัฒนาไปใช้ที่บ้านบางแค
     ผลงานสิ่งประดิษฐ์จากงาน i-CREATe ของนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ได้แก่ เครื่อง Space Walker (เครื่องช่วยเดิน) และ Sit to Stand (เครื่องช่วยลุกยืน) ผลงานวิจัยระบบบริหารจัดการศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและระบบเซนเซอร์อัจฉริยะสำหรับสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยของ AMED สวทช. ได้รับการคัดเลือกนำไปใช้ที่งาน “บ้านบางแค” ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ โดย สวทช. และกรมกิจการผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัย เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่พักในบ้านบางแค

วันที่ 22 กันยายน 2563 ศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และนางสุจิตราพิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ
ร่วมแถลงข่าว ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค ถนนเพชรเกษม กรุงเทพฯ