อบรมเชิงปฏิบัติการ “วิทยาการข้อมูลร่วมกับโค้ดดิ้งผ่านสถานีวัดสภาพอากาศ
อุตุน้อยและเว็บแอปพลิเคชัน PLAYGROUND ด้วยบอร์ด KidBright”
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสำนักงานประสานงานโครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ให้กับครูและนักเรียนพิการจากโรงเรียน นำร่องที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ จำนวน 10 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนศรีสังวาลย์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ โรงเรียนศรีสังวาลย์ขอนแก่น โรงเรียนโสตศึกษาอนุสารสุนทร โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนนทบุรี โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดสงขลา โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดอุดรธานี และโรงเรียนโสตศึกษาปานเลิศจังหวัดลพบุรี
ตั้งแต่การใช้งานบอร์ด KidBright ขั้นพื้นฐานจนไปถึงการจัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวนั้น เพื่อเป็นการพัฒนาความรู้และต่อยอดทักษะด้านวิทยาการข้อมูล (Data Science) ร่วมกับโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ให้แก่ครูและนักเรียนพิการ และได้จัดอบรม เชิงปฏิบัติการเรื่อง “วิทยาการข้อมูลร่วมกับโค้ดดิ้งผ่านสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อยและเว็บแอปพลิเคชัน PLAYGROUND ด้วยบอร์ด KidBright” ระหว่างวันที่ 29-31 สิงหาคม 2565 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สวทช. จังหวัดปทุมธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูและนักเรียนพิการมีโอกาสเรียนรู้วิทยาการข้อมูลผ่านสถานีวัดสภาพอากาศอุตุน้อยและเว็บแอปพลิเคชัน PLAYGROUD ด้วยบอร์ด KidBright ส่งเสริมให้นักเรียนได้พัฒนากระบวนการคิดอย่างเป็นระบบ คิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาโดยใช้ประโยชน์จากการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากจากหลายแหล่งมาช่วยในการตัดสินใจเพื่อตอบโจทย์ปัญหา รวมทั้งการนำความรู้ด้านวิทยาการข้อมูลมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัวให้มีคุณค่าและเกิดประโยชน์ในการต่อยอดไปสู่การใช้งานจริง นอกจากนี้ครูผู้สอนสามารถนำความรู้ด้านวิทยาการข้อมูลร่วมกับทักษะโค้ดดิ้งด้วยบอร์ด KidBright ไปขยายผลการจัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการที่โรงเรียนต่อไป