TH  |  EN

โครงการความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

สร้างความตระหนัก เข้าใจ เพื่อความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน

   “เครือข่ายโรงเรียนปลอดภัยเกิดขึ้นเพราะว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งมีผู้ก่อการร้ายต่างๆ มาเผาโรงเรียน แต่บางทีชักสงสัยว่าไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เผากันเองหรือเปล่า สมัยก่อนโรงเรียนไม่มีเครื่องไฟฟ้ามาก พอหนัก ๆ เข้า เดี๋ยวนี้ของใช้ในโรงเรียน สื่อการสอนเป็นอิเล็กทรอนิกส์ทั้งนั้น ต้องใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้าก็โอเวอร์โหลด แล้วก็รั่ว ท่าไหนไม่รู้ก็ไหม้โรงเรียน ทาง สวทช จึงร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปอบรมครูเรื่อง โรงเรียนปลอดภัย อบรมทั้งครู และนักเรียน

ตอนนี้พยายามจะให้สัมพันธ์กับการฝึกอาชีพ คือ อาชีพช่างต่อไฟ ซึ่งสอนในหลายๆ แห่ง เพราะว่าแต่ก่อนโรงเรียนที่อยู่ตามชายแดน มีเด็กจำนวนมากไม่มีสัญชาติ พอจบแล้วเรียนต่อสูงก็ไม่ได้ หรือถึงเรียนได้ไปเข้าทำงานอะไรก็ไม่ได้ ก็ให้ฝึกอาชีพอย่างน้อยก็รับจ้างในงานที่ดีไม่ต้องไปทำงานทุจริตต่างๆ เช่น ค้ายาบ้า ก็จะได้มีทางเลือกในการทำงาน

ในเมื่อหนังสือเรียนมีเรื่องไฟฟ้า ทั้งระดับประถม มัธยม ก็ให้โยงกันให้หมด คือ โรงเรียนปลอดภัย การฝึกอาชีพ และบทเรียนวิทยาศาสตร์ กิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการเชื่อมโยงกับแนวคิดทางวิทยาสตร์ทั้งนั้น เด็กจะเรียนวิทยาศาสตร์ผ่านกิจกรรม บางอันก็โยงเข้ากับวิชาการที่มีในหนังสือ ถ้าลงมือเองก็จะจำได้ เวลาตอบข้อสอบก็น่าจะตอบได้ดีขึ้น” “พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในปาฐกถาพิเศษเยาวชนไทยกับวิทยาศาสตร์”

“พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในปาฐกถาพิเศษเยาวชนไทยกับวิทยาศาสตร์”

   สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้มีรับสั่งเรื่องความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียนเป็นครั้งแรกในที่ประชุมคณะกรรมการสภากาชาดไทย จากนั้น สภากาชาดไทยได้แต่งตั้งคณะทำงานความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน และดำเนินโครงการจัดอบรมความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียนขึ้น โดยได้จัดอบรมให้แก่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 3 ครั้ง และเมื่อความทราบฝ่าละอองพระบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงชื่นชมการดำเนินงานดังกล่าว และต้องการให้ขยายผลการอบรมสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (รร. ตชด.) ด้วย เนื่องจากทรงทราบว่ามีโรงเรียน ตชด. ที่ถูกไฟไหม้ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงรับสนองพระราชดำริฯ โดย ได้แต่งตั้งคณะทำงานความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียนขึ้น

ภาพเพลิงไหม้ โรงเรียน ตชด. 33 รัปปาปอร์ต จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2553

วัตถุประสงค์

เพื่อสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าให้แก่โรงเรียน ตชด.

คณะทำงานความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน

ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานสำคัญ ได้แก่

• สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

• สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

• กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.)

• การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)

• คณะแม่บ้านและครอบครัวการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

• สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

• มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

• สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)

• กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)

• ฝ่ายเลขานุการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี

ปัญหาระบบไฟฟ้าเร่งด่วนที่พบในโรงเรียน ตชด.

• สวิตซ์ เต้ารับ และแผงควบคุม อยู่ในสภาพเก่า ชำรุด

• สายไฟชำรุดและพบปัญหาปลวกกัดกินสายไฟ

• ระบบไฟฟ้าในอาคารรั่วหลายจุด มีความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้

• ระบบสายดินไม่มีมาตรฐาน ไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัย ฯลฯ

สายไฟชำรุด ปลวกกัดกินสายไฟ

สวิตซ์ เต้ารับ อยู่ในสภาพเก่า ชำรุด

การดำเนินงานของโครงการที่ผ่านมา

พัฒนาความรู้

1. ส่งเสริมให้โรงเรียนมีการเรียนการสอนเรื่องไฟฟ้าและความปลอดภัยบรรจุอยู่ในหลักสูตรโรงเรียน
2. มอบสื่อการสอน เรื่อง ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องต้นให้แก่โรงเรียน โดย สสวท.
3. อบรมการสอน เรื่อง ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เบื้องต้น ให้แก่โรงเรียน โดย สสวท.

ติดตามให้ความช่วยเหลือ

1. ติดตาม ตรวจเยี่ยมระบบไฟฟ้าในโรงเรียน ตชด. อย่างต่อเนื่อง

2. ปฐมพยาบาลทางเทคนิค PEA ซ่อมบำรุง สำรวจ ตรวจสอบ ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้า ปรับปรุงห้องเรียน และสนับสนุนอุปกรณ์ ให้แก่ โรงเรียน ตชด. ทุกโรงเรียน

3. ปรับปรุงให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น จัดทำโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน ตชด. เพื่อซ่อมบำรุง อาคารเรียน และปรับปรุงระบบไฟฟ้าทั้งอาคารแก่โรงเรียน ตชด. ที่มีภาวะเสี่ยงด้านความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ให้เข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานให้ดียิ่งขึ้น

 

ดำเนินกิจกรรมภายในโรงเรียน

1. จัดตั้งคณะทำงานความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน ตชด. (Safety Officer/ Safety Committee) เพื่อติดตามวางแผน ตรวจสอบ ความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน

2. พัฒนาให้ความรู้แก่ Safety Officer

3. มอบสื่อ และอุปกรณ์ตรวจวัดแรงดันไฟฟ้า ให้แก่ Safety Officer ทุกโรงเรียน

กรณีตัวอย่างการสร้างความตระหนักเรื่องความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าให้แก่โรงเรียน ตชด.

โครงการนำร่อง: การสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน ตชด.

สนับสนุนงบประมาณจาก สหกรณ์ออมทรัพย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จำกัด (สอ. มจธ.) และมีสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้ความช่วยเหลือซ่อมบำรุง อาคารเรียน และระบบไฟฟ้าแก่โรงเรียน ตชด. ที่มีภาวะเสี่ยงด้านความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าจำนวน 2 แห่ง ได้แก่

• โรงเรียน ตชด.บ้านควนสามัคคี จ. ชุมพร ซึ่งมีวิทยาลัยสารพัดช่างชุมพร วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการเป็นพี่เลี้ยงซ่อมบำรุง

• โรงเรียน ตชด.สันตินิมิต ซึ่งมีวิทยาลัยการอาชีพท่าแซะ วิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินการเป็นพี่เลี้ยงซ่อมบำรุง

โรงเรียน มัธยมพระราชทานนายาว จ. ฉะเชิงเทรา

มีแนวทางการดำเนินงานด้านความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน จำนวน 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 สร้างความตระหนัก ประชุม และอบรมให้ความรู้แก่คณะครู และนักเรียน

ขั้นที่ 2 แต่งตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียน

ขั้นที่ 3 คณะกรรมการความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าในโรงเรียนตรวจสอบความปลอดภัย

ขั้นที่ 4 จัดการเรียนการสอนเรื่อง ไฟฟ้า และความปลอดภัยจากระบบไฟฟ้าในวิชาเรียน

โรงเรียน ตชด. 14 บ้านตาตุม จังหวัดสุรินทร์

นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการใช้ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี สามารถถ่ายทอดสู่ครอบครัวได้ เป็นผลมาจากการที่โรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนด้านความปลอดภัยฯ ในชั้นเรียน ช่วงเช้าหน้าเสาธงและก่อนเลิกเรียน

โรงเรียน ตชด. 33 รัปปาปอร์ต จังหวัดเชียงใหม่

โรงเรียนได้มีการประชุมวางแผนการป้องกันอัคคีภัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อบต. ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และด้วยความช่วยเหลือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้ช่วยจัดงบประมาณปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและติดตั้งเบรกเกอร์ให้แก่โรงเรียน อีกทั้งมีการจัดอบรมด้านความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าที่โรงเรียนเป็นกิจกรรมเสริม