สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงร่วมงานประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์เยาวชนโลก 2023 (GYSS2023) ผ่านระบบออนไลน์
วันที่ 19 มกราคม 2566 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯออก ณ วังสระปทุม พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและรองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เฝ้าทูลละอองพระบาท ทรงร่วมการประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์ เยาวชนโลก2023 หรือ GYSS2023 (อ่าน จีวายเอสเอส 2023) ทรงรับฟังการบรรยายเรื่อง Opening the Infrared Treasure Chest with the James Webb Space Telescope โดย ดร. จอห์น เมเทอร์ (Dr. John Mather) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ ปี ค.ศ. 2006 จากผลงานการทำโครงการดาวเทียมสำรวจพื้นหลังของเอกภพ (Cosmic Background Explorer หรือ COBE (อ่านว่า โค-เบ) ในปี ค.ศ. 1989 ดร. เมเทอร์ เป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์อาวุโส ศูนย์การบินอวกาศกอดดาร์ดขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐ ฯ หรือนาซา เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้มีบทบาทสำคัญในโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ตรวจวัดรังสีอินฟราเรด เนื่องจากมีความไวต่อรังสีอินฟราเรดหรือร่องรอยความร้อนจาง ๆ ในห้วงอวกาศสูง ทำให้กล้องสามารถส่องทะลุทะลวงกลุ่มหมอกของฝุ่นและก๊าซเข้าไป มองเห็นพื้นที่ให้กำเนิดดวงดาวต่าง ๆ และบันทึกแสงจากกาแล็กซีเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก ซึ่งมีอายุกว่าหมื่นล้านปีได้ ทำให้มนุษย์ได้เห็นภาพจักรวาลได้ลึกอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การประชุม GYSS จัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ต่อเนื่องมาทุกปี โดยมูลนิธิวิจัยแห่งชาติสิงคโปร์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายวิชาการระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลและ นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก กับนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ มีการเชิญผู้ได้รับรางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกกับนักศึกษาและนักวิจัยรุ่นใหม่จากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จัดตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อคัดเลือกนิสิต นักศึกษา และ นักวิจัยหลังปริญญาเอก ที่สนใจเข้าร่วมโครงการและมีคุณสมบัติเหมาะสมในเบื้องต้น จากนั้นจะทรงพระราชวินิจฉัยคัดเลือกผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมงานประชุมในแต่ละปี โดยการประชุมในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 17- 20 มกราคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีและการออกแบบสิงคโปร์ สาธารณรัฐสิงคโปร์ มีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลก 21 คน และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนกว่า 800 คน จาก 38 ประเทศเข้าร่วมกิจกรรม ในจำนวนนี้เป็นผู้แทนจากประเทศไทยจำนวน 10 คน และนอกจากนี้ยังมีอีก 11 คน ที่ได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมชมแบบออนไลน์