การพัฒนาผู้ต้องขังให้มีทักษะในการถอดความเสียง (ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง จ.ปทุมธานี)
ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. ได้พัฒนา “ระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล” ซึ่งโปรแกรมถอดความเสียงนี้จะช่วยแปลงเสียงพูดให้เป็นข้อความ โดยจะต้องมีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการถอดความเสียง มาทำหน้าที่ถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล โปรแกรมนี้จะเป็นศูนย์กลางในการจัดส่งไฟล์เสียงไปยังเจ้าหน้าที่ถอดความเสียง แล้วนำข้อความจากเจ้าหน้าที่ถอดเสียงจากหลายคน มารวบรวมเป็นข้อความเดียวกัน
ในปี พ.ศ.2562 สวทช. ร่วมกับ มูลนิธิฯ และทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงจัดทำ “โครงการฝึกถอดความเสียงพูดเพื่อพัฒนาทักษะด้านการถอดความเสียงพูดแก่ผู้ต้องขัง” เพื่อเตรียมบุคลากรรองรับงานถอดความเสียงรายการโทรทัศน์ที่จะต้องมีคำบรรยายแทนเสียงแบบเปิด/ปิดได้ เพื่อให้ผู้ต้องขังได้ฝึกทักษะในการถอดความเสียงและรับงานเป็นวิชาชีพในทัณฑสถานอีกอาชีพหนึ่ง (ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการ ให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ ประกาศ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559) ในการดำเนินงาน มูลนิธิฯ จัดหาชุดคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในโครงการฯ จำนวน 10 ชุด ทางทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงคัดเลือกผู้ต้องขังเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 20 คน สวทช. ได้ฝึกทักษะการถอดความเสียง 3 ระยะคือ ระยะที่ 1 ทดสอบการพิมพ์สัมผัสตามตัวอักษรบนหน้าจอผ่านโปรแกรม RevivaType ระยะที่ 2 ทดสอบการสะกดคำในภาษาไทย และระยะที่ 3 ทดสอบการพิมพ์ถอดความเสียงพูด หลังจากฝึกทักษะครบ 3 ระยะแล้ว สวทช. ได้คัดเลือกผู้ต้องขังโดยพิจารณาจากความถูกต้องของข้อความและความเร็วในการพิมพ์ โดยคัดเลือกผู้ต้องขังจำนวน 10 คน (จาก 20 คน) จากนั้นผู้ต้องขังได้ฝึกสะกดคำยากและคำทับศัพท์ โดยอ้างอิงตามโปรแกรมพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 และฝึกการถอดความเสียงจากไฟล์เสียงของการเรียนการสอนในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
ในปี พ.ศ.2563 – 2565 สวทช. ดำเนินการจ้างผู้ต้องขังในการจัดทำคำบรรยายแทนเสียงซึ่งเป็นบริการที่ช่วยให้ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางการได้ยิน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เนื้อหาในการเรียนการสอน การประชุมสัมมนา และรายการโทรทัศน์ได้ด้วยการอ่านข้อความที่ได้จากการถอดความแทนการฟังเสียง โดย สวทช. ได้ส่งงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งเป็นการเรียนการสอนในหลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศแบบเรียนร่วมระหว่างนักศึกษาปกติและนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ในการเรียนการสอนจะจัดให้มีบริการคำบรรยายแทนเสียงแบบทันต่อเวลา เพื่อให้นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถติดตามเนื้อหาวิชาในระหว่างการเรียนการสอนได้ นอกจากนี้ ยังได้บันทึกวิดีโอการเรียนการสอนเพื่อให้ทบทวนบทเรียนย้อนหลังได้ โดยมีคำบรรยายแทนเสียงแบบทันต่อเวลา