TH  |  EN

ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำผู้บริหารโครงการวิจัย นิวทริโนของเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research: CERN) Prof. Dr. Albert De Roeck (ศาสตราจารย์ ดร. อัลเบิร์ต เดอ รอค) ผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และคณะผู้บริหารและอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเฝ้าฯ

     วันเสาร์ที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๐๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำผู้บริหารโครงการวิจัยนิวทริโนของเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research: CERN) Prof. Dr. Albert De Roeck (ศาสตราจารย์ ดร. อัลเบิร์ต เดอ รอค) ผู้บริหารหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และคณะผู้บริหารและอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้า แผนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับเซิร์น และแนวทางการดำเนินงานในอนาคต

       เซิร์น หรือองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป เป็นองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศในทวีปยุโรปเพื่อวิจัยและพัฒนาทางฟิสิกส์อนุภาค หรือบางครั้งก็เรียกว่าฟิสิกส์พลังงานสูง เพื่อการค้นพบอนุภาคใหม่ของวิทยาศาสตร์แนวหน้า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซิร์นเกิดขึ้นเมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนเซิร์นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ หลังจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเซิร์นได้ขยายตัวขึ้นตามลำดับ

    มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีได้รับสนองพระราชดำริประสานงานกับหน่วยงานร่วมดำเนินงานในประเทศไทยคือมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ มาเป็นระยะเวลากว่า ๒๐ ปี โดยเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๑ ได้มีการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือนานาชาติ (International Collaboration Agreement) ระหว่างราชอาณาจักรไทย กับเซิร์น โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธานในพิธีลงนาม ณ วังสระปทุม

     ผู้บริหารโครงการวิจัยนิวทริโนของเซิร์น ศาสตราจารย์ ดร. อัลเบิร์ต เดอ รอค เป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยและสถาบันการศึกษาของไทยได้เข้าร่วมในโครงการวิจัยที่สำคัญของเซิร์นหลายโครงการ อาทิ การเข้าร่วมการทดลอง Compact Muon Solenoid หรือ CMS และการทดลอง Scattering Neutrino Detection at LHC หรือ SND@LHC ได้เป็นผลสำเร็จ การทดลอง CMS เป็นเครื่องตรวจวัดอนุภาคขนาดใหญ่เทียบเท่าตึกห้าชั้น ทำหน้าที่ตรวจวัดอนุภาคที่เกิดจากการชนกันของลำอนุภาคโปรตอนภายในเครื่องเร่งอนุภาค LHC ที่เซิร์น เพื่อจำลองการระเบิดของเอกภพหรือบิกแบงที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเอกภพ การทดลอง CMS ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๓ และเริ่มดำเนินการเก็บข้อมูลครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๕๕๑ ประเทศไทยนำโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี พ.ศ.๒๕๕๕ เป้าหมายหลักของเครื่องตรวจวัดอนุภาค CMS คือการศึกษาวิจัยทางฟิสิกส์พลังงานสูงเพื่อการค้นหาคำตอบเรื่องต้นกำเนิดของเอกภพ สามารถนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตวัสดุตัวนำยิ่งยวด เทคโนโลยีการผลิตควอนตัมเซนเซอร์ เป็นต้น ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๖๖ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ขยายความร่วมมือโดยการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับการทดลอง SND@LHC ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อการศึกษาอนุภาคนิวทริโน หนึ่งในอนุภาคพื้นฐานสำคัญที่เป็นต้นกำเนิดของเอกภพ แต่ยังไม่มีใครสามารถอธิบายคุณสมบัติที่แท้จริงได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต การที่ประเทศไทยมีความร่วมมือในโครงการวิจัยที่สำคัญของเซิร์น จะช่วยผลักดันให้นักวิจัยไทยมีศักยภาพสูงทัดเทียมกับนักวิจัยระดับนานาชาติ และช่วยให้ประเทศไทยได้รับโอกาสที่ดียิ่งขึ้นในเวทีระดับโลก

สนใจร่วมสนับสนุนมูลนิธิหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
73/1 อาคาร สวทช. ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 02 564 7000 ต่อ 81813, 81816, email : info@princess-it.org
www.princess-it.org