TH  |  EN

ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
นำคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และผู้บริหารสถาบันในประเทศไทย
ภายใต้ความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และคณะกรรมการความร่วมมือการวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ เพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน กับสถาบันในประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ จำนวน ๔ สถาบัน

        วังสระปทุม: วันเสาร์ที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๔.๔๕ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำคณะผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และผู้บริหารสถาบันในประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ อันได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และคณะกรรมการความร่วมมือการวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ประเทศไทย เข้าเฝ้าฯ และทรงเป็นองค์ประธานในการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน กับสถาบันในประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ จำนวน ๔ สถาบัน

     ด้วยพระวิสัยทัศน์อันยาวไกล ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมุ่งมั่นผลักดันให้ประเทศไทยได้เข้าไปเป็นส่วนร่วมในการทำวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลกกับหน่วยงานชั้นนำระดับโลก เพื่อส่งเสริมยกระดับขีดความสามารถทางการวิจัยและวิทยาศาสตร์ของประเทศให้มีความทัดเทียมสากล ประเทศไทยได้มีการสร้างความร่วมมือการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูงกับกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริ  มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งของความร่วมมือทางด้านฟิสิกส์ของนิวทริโน และส่งเสริมการดำเนินงานด้านวิศวกรรมขั้วโลก ระหว่าง ๔ สถาบันในประเทศไทยร่วมกับศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคไอซ์คิวบ์วิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา

     กลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์บริหารงานโดยศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคไอซ์คิวบ์วิสคอนซิน ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกภายใต้มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันกลุ่มวิจัยนิวทริโนไอซ์คิวบ์มีนักวิทยาศาสตร์มากกว่า 350 คนจาก จาก 14 ประเทศ 58 สถาบัน มีโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยที่สำคัญคือ หอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ ตั้งอยู่ใจกลางทวีปแอนตาร์กติกา บริเวณละติจูด 90 องศาใต้ (หรือขั้วโลกใต้) มีภารกิจในการศึกษาวิทยาศาสตร์ขั้นสูง อาทิ ฟิสิกส์นิวทริโนพลังงานสูงจากแหล่งกำเนิดนอกระบบสุริยะ ฟิสิกส์ดาราศาสตร์พหุพาหะรังสีคอสมิก สสารมืด และธรณีวิทยาธารน้ำแข็ง

          สำหรับความร่วมมือที่ผ่านมา ศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคไอซ์คิวบ์วิสคอนซินได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานแก่นักศึกษาไทย ในการเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนของหอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน จำนวน ๒ คนต่อปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๖๕ เป็นต้นมา และได้สนับสนุนให้นักวิจัยไทยร่วมเดินทางไปปฏิบัติงาน ณ หอสังเกตการณ์นิวทริโนไอซ์คิวบ์ บริเวณขั้วโลกใต้ ร่วมกับทีมวิศวกรขุดเจาะน้ำแข็ง เพื่อเตรียมการขยายขีดความสามารถของหอสังเกตการณ์ในโครงการ IceCube Upgrade เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตรวจวัดอนุภาคนิวทริโนที่มีพลังงานต่ำในระดับจิกะอิเล็กตรอนโวลต์ และการตรวจวัดทาวนิวทริโนด้วยความแม่นยำสูง รวมถึงการศึกษาปรากฏการณ์การแกว่งตัวของนิวทริโนด้วยความไว (Sensitivity) ระดับชั้นนำของโลก  และเปิดโอกาสให้คณาจารย์และนักวิจัยไทยได้เข้าร่วมปฏิบัติงานวิจัยและฝึกอบรมร่วมกับนักวิจัยในความร่วมมือของไอซ์คิวบ์

          บันทึกความเข้าใจระหว่างมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน กับสถาบันในประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือไทย-ไอซ์คิวบ์ ที่มีการลงนามในวันนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่ความร่วมมือระยะยาวด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยความร่วมมือครั้งนี้จะนำมาซึ่งการวิจัยที่ล้ำสมัย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และส่งเสริมการฝึกฝนบุคลากรที่มีความสามารถสูงรุ่นต่อไปในประเทศไทย ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ทางวิทยาศาสตร์ระหว่างทั้งสองประเทศ ทั้งจะเป็นเครื่องมือผลักดันให้เกิดการศึกษาวิจัยขั้นสูง โดยบูรณาการองค์ความรู้จากสหสาขาวิชาในการขับเคลื่อนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมกับพัฒนาขีดความสามารถให้แก่นักเรียน นักศึกษา นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ คณาจารย์ นักวิจัย และวิศวกร ได้มีโอกาสเรียนรู้และทำงานร่วมกัน ต่อยอดขยายขอบเขตความเข้าใจและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยิ่งขึ้นไป

สนใจร่วมสนับสนุนมูลนิธิหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
73/1 อาคาร สวทช. ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 02 564 7000 ต่อ 81813, 81816, email : info@princess-it.org
www.princess-it.org