TH  |  EN

ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการ
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
นำคณะบุคคลจากสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA)
และคณะบุคคลจากหอดูดาวดาราศาสตร์เซี่ยงไฮ้ (Shanghai Astronomical Observatory: SHAO)
พร้อมด้วยผู้บริหารจากสถาบันของไทยที่ร่วมดำเนินการโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุ VGOS เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลความก้าวหน้าของโครงการ

     ณ วังสระปทุม วันอังคารที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ เวลา ๑๗.๓๐ น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นำคณะบุคคลจากสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) และคณะบุคคลจากหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Astronomical Observatory: SHAO) พร้อมด้วยผู้บริหารจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าของความร่วมมือไทย-จีน เกี่ยวกับโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ และรายงานความก้าวหน้าการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุเพื่อการศึกษาภูมิมาตรศาสตร์ โดยมีความก้าวหน้าของการดำเนินงานในแต่ละด้านดังนี้

     ความก้าวหน้าของความร่วมมือไทย-จีน เกี่ยวกับโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์ระหว่างประเทศ

     สืบเนื่องจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ เป็นองค์ประธานการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอวกาศและการสำรวจดวงจันทร์ ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๗ ณ กรุงปักกิ่ง สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ร่วมผลักดันกิจกรรมความร่วมมือกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration: CNSA) อาทิ

  • การส่งอุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ของไทยไปยังวงโคจรรอบดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ-๗ ในปี ซึ่งมีกำหนดออกเดินทางไปดวงจันทร์ในปี ๒๕๖๙
  • การใช้เทคโนโลยีสังเกตการณ์ด้านดาราศาสตร์วิทยุของไทยและจีนร่วมกันสนับสนุนการสำรวจอวกาศห้วงลึก
  • ความร่วมมือศึกษาวิจัยตัวอย่างหินและดินจากดวงจันทร์เพื่อใช้วางแผนภารกิจสำรวจดวงจันทร์ของนักบินอวกาศในอนาคต

     การที่อุปกรณ์ปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์ที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทย ได้รับโอกาสไปปฏิบัติภารกิจในวงโคจรรอบดวงจันทร์ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ วิศวกร นักวิจัย และนักศึกษาไทยจะได้ดำเนินโครงการวิจัยเคียงบ่าเคียงไหล่กับนักวิจัยระดับโลก เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนากำลังคนความเชี่ยวชาญสูงและโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศในประเทศอย่างก้าวกระโดด 

     ความก้าวหน้าของการติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุเพื่อการศึกษาภูมิมาตรศาสตร์

     นอกจากนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ยังมีความร่วมมือกับ หอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Astronomical Observatory: SHAO) มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ในการร่วมพัฒนาและติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุเพื่อวัดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก การศึกษารูปร่าง สัณฐาน ลักษณะเฉพาะต่าง ๆ ของโลก ผ่านศาสตร์การรังวัด หรือที่เรียกว่า “ภูมิมาตรศาสตร์” เทคนิคนี้ อาศัยการสังเกตวัตถุท้องฟ้าห้วงลึกด้วยเทคนิคทางดาราศาสตร์เพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงในการวัดตำแหน่งบนผิวโลก ทำให้สามารถวัดการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกด้วยความแม่นยำสูงถึง ๐.๑ มิลลิเมตร/ปี

     ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และหอดูดาวนครเซี่ยงไฮ้ จะมีการติดตั้งสถานีภูมิมาตรศาสตร์ในไทยสองแห่งเพื่อทำงานวิจัยร่วมกับเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วโลก คือ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ ติดตั้งแล้วเสร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ และที่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๘ เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ สถานีทั้งสองจะช่วยให้ไทยเป็นผู้นำการวิจัยการเคลื่อนที่ของเปลือกโลกและด้านภูมิมาตรศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งด้านการศึกษาวิจัยเชิงลึก และการวิจัยเพื่อเตือนภัยธรรมชาติอันสืบเนื่องมาจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก เช่น แผ่นดินไหว และสึนามิ

ภาพถ่ายพระราชทาน : https://psit.e-office.cloud/d/3af9ecd3

สนใจร่วมสนับสนุนมูลนิธิหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
73/1 อาคาร สวทช. ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 02 564 7000 ต่อ 81813, 81816, email : info@princess-it.org
www.princess-it.org