3-16 การเรียนรู้ด้วยโครงการโดยใช้ ICT เรื่องการเขียนโฆษณา
เรื่อง การเขียนโฆษณา วิชา ภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
1.จุดประสงค์การจัดการเรียนรู้ (Objective)
นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเขียนโฆษณา โดยนักเรียนต้องสามารถสร้างชิ้นงานโฆษณาด้วยโปรแกรม Microsoft Word ได้
2.กิจกรรม (Activities)
ตอนต้นคาบเรียนครูใช้วิธีการสอนแบบบรรยายเรื่องการเขียนโฆษณา โดยเนื้อหาที่สอนได้แก่ ความหมาย วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ หลักในการเขียน โครงสร้าง เทคนิค และตัวอย่างการเขียนโฆษณา จากนั้นเมื่อบรรยายเนื้อหาเรียบร้อยแล้ว ครูมอบหมายงานให้นักเรียนแบ่งกลุ่มกลุ่มละ 3-4 คน สร้างชิ้นงานโฆษณาด้วยโปรแกรม Microsoft Word แล้วออกมานำเสนอผลงานของตนหน้าชั้นเรียน จากนั้นครูและนักเรียนร่วมกันประเมินผลงานและสรุปผลร่วมกัน โดยกิจกรรมการเรียนการสอนทั้งหมดนี้จัดใน 1 คาบเรียน
3.เครื่องมือไอซีที/วัสดุ/อุปกรณ์ Tools and Materials)
โน้ตบุ๊ค กล้องถ่ายภาพ จอโปรเจกเตอร์
4.การวัดและการประเมินผล
ประเมินผลจากชิ้นงานโฆษณาที่สร้างด้วยโปรแกรม Microsoft Word ได้ โดยใช้เกณฑ์การประเมิน 4 ระดับ โดยประเมิน 2 ส่วน คือ ประเมินชิ้นงานโฆษณา และประเมินกระบวนการทำงานเป็นกลุ่มของนักเรียน
5.บันทึกอนุทินหลังการจัดการเรียนรู้
จากการสอนเรื่องการเขียนโฆษณาด้วยโครงการโดยใช้ไอซีที (Project – based Learning using ICT) ตามแนวคอนสตรักชันนิซึม (Constructionism) แสดงให้เห็นถึงความสามารถของนักเรียนในการใช้ ไอซีทีในการสร้างชิ้นงาน สร้างความสนใจและความแปลกใหม่ให้กับผู้เรียนเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังดึงดูดความสนใจผู้เรียน จึงทำให้การสอนนี้ในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก
6.ข้อมูล เพิ่มเติม (สามารถใส่ภาพประกอบ วีดีโอเบื้องหลัง แผนการสอน หรืออื่นๆ ประกอบการเล่าเรื่องเพื่อให้คณะกรรมการได้รับทราบเกี่ยวกับกิจกรรมที่ดำเนิน การได้เข้าใจที่ชัดเจนขึ้น
แผนการสอน
แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง การเขียนโฆษณา โดยใช้ไอซีที (Project – based Learning using ICT) ตามแนวคอนสตรักชันนิซึม (Constructionism) หน่วยการเรียนรู้ที่ 5 การเขียนข้อความตามสถานการณ์และโอกาสต่างๆ เวลา 1 คาบเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2559 ผู้สอน นางสาวอนุสรา โครงเซ็น โรงเรียนวชิรธรรมโศภิต
สาระที่ 2 การเขียน
มาตรฐานการเรียนรู้
มาตรฐาน ท 2.1 ใช้กระบวนการเขียนเขียนสื่อสาร เขียนเรียงความ ย่อความ และเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวชี้วัด
ม.3 /2 เขียนข้อความโดยใช้ถ้อยคำได้ถูกต้องตามระดับภาษา
จุดประสงค์การเรียนรู้
- นักเรียนสามารถอธิบายหลักการเขียนโฆษณาได้ (K)
- นักเรียนสามารถสร้างชิ้นงานโฆษณาโฆษณาด้วยโปรแกรม Microsoft Word ได้ (P)
- นักเรียนสามารถสืบค้นความรู้จากอินเทอร์เน็ตประกอบการสร้างชิ้นงานได้ (P)
- นักเรียนสามารถทำงานร่วมกันอย่างสามัคคี และมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (A)
วิเคราะห์ผลการเรียน
ผู้เรียนจะได้เรียนรู้หลักในการเขียนโฆษณาอย่างไรให้น่าสนใจ ซึ่งความรู้เรื่องการเขียนโฆษณานี้นักเรียนสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะการสร้างชิ้นงานโฆษณาด้วยโปรแกรม Microsoft Word นักเรียนจะประหยัดเวลาในการทำงาน ทำงานได้สะดวก รวดเร็ว ออกแบบได้สวยงาม และที่สำคัญนักเรียนยังสามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลประกอบ ซึ่งถือเป็นการจัดการเรียนการสอนที่ฝึกให้นักเรียนได้ใช้ไอซีทีในการเรียนวิชาภาษาไทยโดยแท้จริง
สาระสำคัญ
โฆษณา (โคด-สะ-นา) หมายถึง งานเขียนเพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านและผู้ฟัง ให้ใช้บริการหรือซื้อสินค้านั้นๆ โดยสามารถโน้มน้าวใจด้วยภาษาเนื้อหา แรงจูงใจ
วัตถุประสงค์ของการโฆษณา
- เพื่อเเนะนำสินค้าใหม่ให้ผู้บริโภครู้จักและเป็นที่ต้องการของประชาชน
- เพื่อเชิญชวน ให้ผู้บริโภคใช้บริการกิจกรรมหรือสินค้าที่เสนอ
การเขียนโฆษณาที่ดี ต้องมีส่วนประกอบ ดังนี้
– ชื่อสินค้าและรูปภาพโฆษณา
– สโลแกน
– สรรพคุณ
– ราคา
– แหล่งซื่อ-ขาย
หลักการเขียนโฆษณา
- ใช้ภาษาสุภาพ ไม่กำกวม ไม่โฆษณาเกินจริง
- บอกรายละเอียดสินค้า ในด้านคุณภาพ ราคา ความสะดวกสบาย
- เขียนโน้มน้าวจิตใจผู้บริโภคให้มีความต้องการใช้สินค้าเเละบริการ
- มีการจูงใจ เช่น ลดราคา มีของเเถม ได้รับสิทธิพิเศษ บริการทั้งเงินสดเเละเงินผ่อน เป็นต้น
การใช้ภาษาเพื่อการเขียนโฆษณา
- ใช้สำนวนที่น่าสนใจจดจำได้ง่าย
- ใช้ข้อความที่กะทัดรัด สละสลวย เพื่อให้สื่อเรื่องได้ตรงตามวัตถุประสงค์และเข้าใจง่าย
- เขียนอักษรให้อ่านง่าย เขียนสะกดการันต์เพื่อความถูกต้อง
- ใช้ภาษาที่บ่งบอกให้รู้ว่าสินค้าที่นำเสนอคืออะไร ใช้ประโยชน์อะไร
- ไม่เขียนข้อความเกินความจริง และไม่ใส่ร้ายสินค้าชนิดอื่นๆ
เทคนิคการเขียนโฆษณาให้น่าสนใจ
การเขียนสโลแกนโฆษณา มีลักษณะการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างไปจากงานเขียนประเภทอื่นๆ เนื่องด้วยสโลแกนที่คิดขึ้นนั้นจะต้องสร้างจุดเด่นให้กับตัวสินค้าและบริการ ศัพท์ที่ใช้ต้องสะดุดตา ติดหู และต้องใจผู้บริโภค ข้อความโฆษณาที่จำเป็นต้องนำเอาสโลแกนมาเป็นประเด็นหลักในการเขียน แล้วจึงทำการขยายความในประเด็นรองต่อไปนั่นเอง
คุณสมบัติหรือองค์ประกอบของสโลแกนที่ดี ( elements of a good slogan ) โดยใช้หลัก 6 ส. มีดังนี้
ส. 1 สั้น กระชับ ได้ใจความ กล่าวคือ ใช้ถ้อยคำน้อย แต่กินความมาก ทั้งนี้เพื่อให้สื่อความหมายได้รวดเร็ว
ส. 2 สรรคำมีน้ำหนัก กล่าวคือ ใช้คำพูดที่หนักแน่น มีความแรงในสาระ
ส. 3 สาระสำคัญเป็นหนึ่ง กล่าวคือ สโลแกนที่คิดขึ้นต้องมีใจความสำคัญหรือเป้าหมายเพียงประการเดียว เพราะการเขียนสโลแกนที่มีจุดเน้นมากกว่าหนึ่งประเด็น จะทำให้ผู้บริโภคสับสนในจุดยืนที่ไม่ชัดเจนของสินค้าและบริการ
ส. 4 สัมผัสคล้องจอง กล่าวคือ มีการเล่นคำหรือเล่นสัมผัสคล้องจอง เพื่อเพิ่มความสะดุดตา สะดุดใจ และจดจำได้ง่าย อาจใช้การซ้ำคำหรือเล่นสัมผัสคล้องจองก็ได้
ส. 5 สม่ำเสมอในจังหวะอ่าน กล่าวคือ มีจังหวะในการอ่านที่ดี เพราะสโลแกนที่ใส่ใจกับจังหวะที่สม่ำเสมอกันจะทำให้ง่ายต่อการจดจำและทำให้เกิดความสนุกสนานได้อีกด้วย จังหวะที่ดีในการอ่านคือ 3:3:3 , 2:3:2 , 3:2:3 , 3:3 , 3:4:4 หรือ 4:5
ส .6 สื่อความด้วยชื่อ กล่าวคือ ควรมีชื่อสินค้าอยู่ในสโลแกนด้วย เพื่อช่วยในการจดจำและไม่เกิดความสับสนกับสินค้าอื่น
ชิ้นงาน / ภาระงาน
ชิ้นงานโฆษณาที่สร้างด้วยโปรแกรม Microsoft Word
กระบวนการจัดการเรียนรู้
เวลา 1 ชั่วโมง
ขั้นนำ (5 นาที)
ครูแบ่งนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละเท่าๆ กัน โดยใช้การแบ่งด้วยวิธีจัดกลุ่มเรียงตามเลขที่ จากนั้นครูให้นักเรียนช่วยกันตอบคำถามว่าทำไมต้องมีการโฆษณา เพื่อกระตุ้นความคิดของนักเรียนให้เห็นถึงความสำคัญของการโฆษณา รูปแบบการจัดการเรียนรู้ในคาบเรียนนี้เป็นการจัดการเรียนรู้แบบกลุ่มเพื่อให้นักเรียนสามารถใช้วิธีเรียนแบบร่วมมือและร่วมกันสร้างชิ้นงานได้อย่างสร้างสรรค์
ขั้นสอน (40 นาที)
ครูบรรยายเนื้อหาเรื่องการเขียนโฆษณา จากนั้นครูมอบหมายงานให้นักเรียนแต่ละกลุ่มสร้างชิ้นงานโฆษณาด้วยโปรแกรม Microsoft Word โดยนักเรียนทำลงในโน้ตบุ๊คที่ครูเตรียมให้ ชิ้นงานที่สร้างนั้นจะต้องครบตามองค์ประกอบของการเขียนโฆษณา ในขั้นนี้ครูจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลประกอบด้วย ตลอดระยะเวลาที่นักเรียนสร้างชิ้นงานนั้น ครูจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้ที่คอยให้คำปรึกษาแก่นักเรียน โดยจะเน้นให้นักเรียนสามารถออกแบบสร้างชิ้นงานด้วยตนเอง
ขั้นสรุป (15 นาที)
เมื่อนักเรียนทุกกลุ่ม สร้างชิ้นงานเสร็จแล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนของการร่วมกันประเมินชิ้นงานที่นักเรียนสร้าง โดยวิธีการประเมินจะประเมิน 2 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ประเมินตัวชิ้นงานโฆษณาที่นักเรียนสร้างขึ้น วิธีการประเมินคือ ครูแจกลูกบอลซึ่งมีค่าเป็นคะแนนให้ทุกกลุ่มกลุ่มละ 3 ลูก และลูกบอลของครูอีกอีก 1 ลูก จากนั้นให้นักเรียนและครูนำลูกบอลนำไปหยอดในกล่องให้คะแนนและนับคะแนนพร้อมกับประกาศผลคะแนนของนักเรียนและมอบของรางวัลให้นักเรียนทุกกลุ่ม 2. ประเมินกระบวนการทำงานร่วมกันของนักเรียน ซึ่งครูจะเป็นผู้ประเมิน จากนั้นครูสรุปเนื้อหาทั้งหมดให้นักเรียนฟังอีกครั้ง พร้อมกับให้นักเรียนแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้ ปรากฏว่านักเรียนชอบและอยากให้การสอนวิชาภาษาไทยในครั้งต่อไปบูรณาการกับการใช้ไอซีทีอีก เพราะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่นักเรียนไม่เคยพบมาก่อน เนื่องจากการสอนเรื่องการเขียนโฆษณาที่ผ่านมา ผู้สอนจะให้นักเรียนสร้างชิ้นงานโดยการวาดรูปลงในกระดาษแล้วเขียนข้อความโฆษณา แต่ครั้งนี้เป็นการสร้างชิ้นงานโดยใช้โปรแกรม Microsoft Word นักเรียนสามารถออกแบบงานได้อย่างหลากหลาย ประหยัดเวลา และที่สำคัญถือเป็นการประยุกต์ให้ผู้เรียนได้ใช้เครื่องมือดิจิทัล สร้างชิ้นงานที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้และส่งเสริมสมรรถนะที่สำคัญของผู้เรียน และการจัดเรียนรู้ในครั้งนี้นักเรียนยังได้เผยแพร่ผลงานชิ้นงานโฆษณาของตนเองลงใน facebook ของโรงเรียนอีกด้วย
การวัดผลและการประเมิน
- เกณฑ์การประเมินชิ้นงานโฆษณาของนักเรียน
กลุ่ม
คะแนนที่ได้ 4 3 2 1 1 2 3 ค่าคะแนน
4 หมายถึง ชิ้นงานโฆษณาใช้ภาษาถูกต้องเหมาะสม สินค้าที่นำมาโฆษณามีความ
แปลกใหม่ ออกแบบสีสันสวยงาม และจัดองค์ประกอบของชิ้นงานได้สมดุลกัน
3 หมายถึง ชิ้นงานโฆษณาใช้ภาษาถูกต้องแต่ยังคำที่ใช้ยังไม่โดนเด่นมากนัก สินค้าที่นำมาโฆษณา
มีความแปลกใหม่ ออกแบบสีสันสวยงาม และจัดองค์ประกอบของชิ้นงานได้สมดุลกัน
2 หมายถึง ชิ้นงานโฆษณาใช้ภาษาไม่เหมาะสมเป็นบางที่ สินค้าที่นำมาโฆษณา
ไม่แปลกใหม่ ออกแบบสีสันไม่เด่น และจัดองค์ประกอบของชิ้นงานยังไม่สมดุลกัน
1 หมายถึง ชิ้นงานโฆษณาใช้ภาษาไม่เหมาะสมทั้งหมด สินค้าที่นำมาโฆษณา
ไม่แปลกใหม่ ออกแบบสีสันไม่เด่น และจัดองค์ประกอบของชิ้นงานยังไม่สมดุลกัน
- ประเมินกระบวนการทำงานร่วมกันของนักเรียน
กลุ่ม |
คะแนนที่ได้ | |||
4 | 3 | 2 | 1 | |
1 | ||||
2 | ||||
3 |
ค่าคะแนน
4 หมายถึง นักเรียนทุกคนในกลุ่มร่วมกันทำงาน ช่วยเหลือกัน และมีการวางแผนก่อนลงมือทำ
3 หมายถึง นักเรียนทุกคนในกลุ่มร่วมกันทำงาน ช่วยเหลือกัน และมีการวางแผนก่อนลงมือทำ แต่มีส่วนน้อยที่
ไม่ให้ความร่วมมือ
2 หมายถึง นักเรียนยังไม่ให้ความร่วมมือในการทำงานเท่าที่ควร นักเรียนเล่น และคุยเสียงดัง
1 หมายถึง นักเรียนไม่ทำงาน ต่างคนต่างเล่น ไม่สนใจ
สื่อการเรียนรู้และแหล่งเรียนรู้
ห้องกลุ่มสาระวิชาภาษาไทย โรงเรียนวชิรธรรมโศภิต
Power point เรื่องการเขียนโฆษณา
โน้ตบุ๊ค
อินเตอร์เน็ต
จอโปรเจกเตอร์0