TH  |  EN

ผลการดำเนินงาน

   1. ภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย อันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประกอบด้วยสมาชิกจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย เริ่มต้น 7 แห่ง และมีการขยายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ.2563 มีสมาชิกเข้าร่วม 24 แห่ง
    2. การพัฒนากำลังคน ได้จัดสรรทุนการศึกษาต่างประเทศของกพ.ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2550 – 2556) ระดับปริญญาโท-เอกจำนวน 47 ทุน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2558 – 2563) ระดับปริญญาโท-เอก จัดสรรทุนแล้ว 65 ทุน รวมทั้งสิ้น จำนวน 112 ทุน กลับมาปฏิบัติงานรวมทั้งหมด 41 คน
    3. ปัจจุบันในประเทศไทยมีนักวิจัยและอาจารย์ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ จำนวน 487 คน ปฏิบัติงานเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย จำนวน 205 คน และปฏิบัติงานเป็นนักวิจัยในศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติของ สวทช. และมหาวิทยาลัยจำนวน 282 คน
    4. มีหลักสูตรด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ ระดับปริญญาตรี-โท-เอก ในมหาวิทยาลัย 13 แห่งของประเทศ จำนวน 32 หลักสูตร ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีนิสิตนักศึกษาที่จบการศึกษาแล้วจำนวน 2,398 คน (นับตั้งแต่ที่มีการก่อตั้งภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย ปี 2548)
    5. ภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยได้สร้างความเข้มเข็งทางวิชาการ โดยมีการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ของประเทศไทยในวารสารวิชาการระดับนานาชาติต่อเนื่องทุก ในปี พ.ศ.2563 มีการตีพิมพ์มากกว่า 10 รายการ
    6. การพัฒนาภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยระยะที่ 1 (ปี 2548- 2559) มุ่งสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ สร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ทั้งในและต่างประเทศ พัฒนากำลังคน ผลิตงานวิจัยและพัฒนาต้นแบบของผลิตภัณฑ์ สำหรับการพัฒนาภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทยระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2560 มุ่งเน้นสู่การเป็น BME 2.0 (Thailand Biomedical Engineering 2.0) เน้นการผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์และสร้างความยั่งยืนในการพัฒนาผลงานวิจัย สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ อาศัยกลไกการขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยและมีการขยายผลงานวิจัยไปใช้จริง มีบริษัทเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีหรือผ่านการจัดตั้งบริษัทใหม่ (Start up) เช่น บริษัท ซีเมด เมดิคอล จำกัด, บริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด, บริษัท ออกัส คอมมูนิเทค จำกัด และบริษัท เบดเดอลี่ จากัด เป็นต้น
    7. มีการจัดงาน i-CREATe 2020 ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 5 – 7 ธันวาคม 2563 ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ในรูปแบบการประชุมเสมือนจริง (Virtual conference) โดยผลงานจากประเทศไทยที่ส่งเข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ได้รับรางวัลประเภทผลงานด้านการออกแบบจำนวน 2 รางวัล คือ (1) ผลงาน Power Wheelchair for Disabled Children ของนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร้บรางวัล Merit และ (2) ผลงาน Smart sign language ของนักเรียนโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ได้รับรางวัล Best Ergonomics ทั้งนี้ การประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2021 จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 6 – 9 ธันวาคม 2564
    8. กลุ่มภาคีมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ที่จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และมีความร่วมมือระหว่างภาคี สนับสนุนงานทางด้านเครื่องมือแพทย์ของโรงพยาบาลต่าง ๆ การจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติ