โครงการความสัมพันธ์ไทย – เซิร์นตามพระราชดำริฯ
เซิร์น เป็นชื่อย่อที่มาจากอักษรตัวแรกของชื่อเต็มที่เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Conseil Européen pour la Recherche Nucléaire (CERN) หรือเป็นภาษาอังกฤษว่า European Council for Nuclear Research แปลเป็นไทยว่า ที่ประชุมแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ โดยในปี พ.ศ. 2492 ลูอิส เดอ บรอยล์ (Louis de Broglie) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศสได้เสนอแนวความคิดริเริ่มของการก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยแห่งยุโรป และในปี พ.ศ. 2495 ได้มีการลงนามร่วมกันจัดตั้งอย่างเป็นทางการโดย 11 ประเทศในยุโรป โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศในยุโรปเพื่อการวิจัยฟิสิกส์พื้นฐานระดับโลก เซิร์นตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ครอบคลุมพื้นที่บริเวณชายแดนระหว่าง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และฝรั่งเศส
ต่อมาในวันที่ 29 กันยายน 2497 ได้จัดตั้งเป็นองค์กรแห่งยุโรปเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์ หรือ European Organization for Nuclear Research โดยมีประเทศสมาชิกก่อตั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ เบลเยี่ยม, เดนมาร์ก, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, กรีซ, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, นอร์เวย์, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, อังกฤษ และยูโกสลาเวีย เซิร์นมีความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในโลกแบ่งเป็น 5 ระดับ จำนวนเมื่อสิ้นปี 2018 คือ ประเทศสมาชิก 22 ประเทศ, ประเทศภาคีสมาชิกที่อยู่ในขั้นตอนเข้าเป็นสมาชิก 3 ประเทศ, ประเทศภาคีสมาชิก 5 ประเทศ, ประเทศผู้สังเกตการณ์ 3 ประเทศ, และอื่น ๆ (รวมทั้งประเทศไทย) 43 ประเทศ
พันธกิจหลักของเซิร์น ได้แก่
• งานวิจัยด้านฟิสิกส์พื้นฐาน : ค้นคว้าความรู้พื้นฐานตั้งแต่เริ่มกำเนิดของเอกภพ โดยใช้เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ (เส้นรอบวง 27 กิโลเมตร) เร่งอนุภาคให้มาชนกันในระดับพลังงานสูง และศึกษาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
• การถ่ายทอดเทคโนโลยี : การศึกษาฟิสิกส์พื้นฐานทําให้เกิดผลพลอยได้เป็นเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น
– เซิร์นเป็นต้นกําเนิดของ World Wide Web
– เครื่อง PET Scan ที่ใชทางการแพทย์
– เซิร์นริเริ่มการสร้างหน้าจอแบบสัมผัส โดยเทคโนโลยี capacitive touchscreen ที่ใช้ในโทรศัพท์หน้าจอสัมผัสในยุคปัจจุบัน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เพื่อใช้ควบคุมเครื่องเร่งอนุภาคในยุคนั้น
– เซิร์นริเริ่มการศึกษาการใช้อนุภาค, เครื่องเร่งอนุภาค, และ เครื่องตรวจวัดอนุภาคเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ยุคใหม่ เช่น การใช้ปฏิสสารในการทําลายเซลล์มะเร็ง
• การให้การศึกษา : เพื่อการสร้างนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรในรุ่นต่อไป ทุก ๆ ปีจะมีการเรียน การสอนระยะสั้น และ การเป็นพี่เลี้ยงแก่ นักศึกษา นักวิจัยรุ่นใหม่ในหลาย ๆ โครงการ รวมทั้งโครงการที่ประเทศไทยได้เข้าร่วม อาทิ CERN Summer Student Program และ CERN High School Physics Teacher Program การให้ความรุ้ และช่วยจัดทัศนศึกษาที่เหมาะสมกับนักเรียนในระดับต่าง ๆ
ความเป็นมา
ประเทศไทยได้มีความร่วมมือทางวิชาการกับเซิร์น (The European Organization for Nuclear Research: CERN) มาอย่างต่อเนื่อง เกิดขึ้นด้วยพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดําริและทรงเล็งเห็นว่า หากนักวิทยาศาสตร์ไทยได้มีโอกาสทํางานวิจัยร่วมกับเซิร์น ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยด้านฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงชั้นนําระดับโลก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเป็นอันมาก
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงนำคณะนักวิทยาศาสตร์ไทยไปเยือนเซิร์น ณ สมาพันธรัฐสวิส 6 ครั้ง
– ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 (หน่วยวิจัย DELPHI Detector, LEP)
– ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546 (การประชุม RSIS: Role of Science in Information Society)
– ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 (หน่วยวิจัย CMS Detector, LHC)
– ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2553 (ศูนย์ ATLAS Visitor Center และศูนย์ทดสอบแม่เหล็ก SM18)
– ครั้งที่ 5 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 (เป็นสักขีในการลงลงนามกรอบความร่วมมือระหว่าง สซ. กับ CERN)
– ครั้งที่ 6 ในวันที่ 4 กันยายน2562 (เสด็จทอดพระเนตรเครื่องวัดอนุภาคALICEที่ชั้นใต้ดินซึ่งจะติดตั้งITS2 ในปี ค.ศ. 2020)
รวมทั้งได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของไทยกับหน่วยงาน/สถานีวิจัยของเซิร์น โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นประธานในการลงนามความร่วมมือดังกล่าว ดังนี้
1) การลงนามในเอกสารแสดงเจตจำนงที่จะมีความร่วมมือกัน (Expression of Interest in The Participation of Physicists from Universities and Research Institutes from Thailand in the CMS Experiment at the CERN LHC Accelerator (EOI) ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และสถานีวิจัย CMS Experiment ของเซิร์น ในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนเซิร์น ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 ซึ่งต่อมาสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการความร่วมมือด้านวิชาการและวิจัยกับเซิร์น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือวิจัยระหว่างหน่วยงานของประเทศไทยกับเซิร์น ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะอนุกรรมการดำเนินงานโครงการสนองแนวพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านวิชาการ CERN-DESY-GSI/FAIR
2) การลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถานีวิจัย CMS ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2555 ผู้เข้าเฝ้าจากเซิร์นคือ Dr. Joe Incandela (CMS Spokesperson) และ Dr. Albert De Roeck (Ex-CMS Deputy Spokesperson) ในด้านการวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความสนใจในการศึกษาปรากฏการณ์ฟิสิกส์ใหม่ ๆ ที่นอกเหนือไปจากแบบจำลองมาตรฐานของฟิสิกส์อนุภาค อาทิ Supersymmetry, Exotica ตลอดจนฟิสิกส์ที่เกี่ยวกับอนุภาคฮิกส์ (Higgs Physics) การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องมีดังนี้
1. การเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน CMS Upgrade Phase II
2. จัดตั้ง CMS Center ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. เข้าร่วมในการให้บริการ Central Shift และ Computing Shift
4. เข้าร่วมศึกษาและจัดทำ L1&High Level Trigger
5. เข้าร่วมการอบรมและประชุมที่เกี่ยวข้องกับ CMS
6. ผลิตบทความวิจัยในนาม CMS Collaboration
7. เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และให้ความรู้ฟิสิกส์อนุภาคแก่ผู้สนใจทั่วไป
3) การลงนาม MOU ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีและสถานีวิจัย ALICE ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2555 ผู้เข้าเฝ้าจากเซิร์นคือ Dr. Paolo Giubellino (ALICE Spokesperson), Prof. Emmanuel Tsesmelis, CERN Directorate Office และ Dr. Luciano Musa, Head of the ITS upgrade
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาระบบติดตามทางเดินของอนุภาคภายใน (Inner Tracking System, ITS) หัววัดไอออนหนัก ALICE ทั้งในส่วนที่เป็นด้านฮาร์ดแวร์ และซอฟท์แวร์ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556-2564 โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย ประกอบด้วย ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และบริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
4) การลงนาม MOU ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ สวทช. กับ CERN (host of the WLCG: Worldwide LHC Computing Grid) ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2556 ผู้เข้าเฝ้าจากเซิร์นคือ Professor Rolf-Dieter Heuer เลขาธิการเซิร์น (Director General of CERN) ซึ่งได้รับพระราชทานดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีในโอกาสเดียวกันด้วย
โดยประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากความร่วมมือกับ WLCG คือ ได้เรียนรู้เทคนิค และการบริหารจัดการความร่วมมือในการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานการวิจัยขนาดใหญ่ เพื่อนำมายกระดับโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ และมีส่วนสนับสนุนการวิจัยของเซิร์น ทำให้ได้รับเครดิตทางวิชาการ
5) การลงนาม MOU ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กับเซิร์น ในความร่วมมือด้านเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อการแพทย์และประยุกต์อื่น ในโอกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเยือนเซิร์น ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558
6) การลงนาม MOU ระหว่างสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนและสถานีวิจัย ALICE ณ วังสระปทุม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2559 ผู้เข้าเฝ้าจากเซิร์นคือ Professor Dr. Paolo Giubellino (ALICE Spokesperson)
7) คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 อนุมัติให้ลงนามในร่างความตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศระหว่างราชอาณาจักรไทยกับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) (ICA : International Cooperation Agreement) และให้ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ลงนามความตกลงความร่วมมือดังกล่าว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิธีลงนามความตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศดังระหว่างราชอาณาจักรไทยกับองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (เซิร์น) เกี่ยวกับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านฟิสิกส์พลังงานสูง พ.ศ. ๒๕๖๑ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๑ เวลา ๑๗.๐๐ น. ณ วังสระปทุม ส่งผลให้ประเทศไทยยกระดับจาก non-member states with scientific contactsเป็นnon-member states with co-operation agreements