งานประชุมวิชาการนานาชาติ i-CREATe 2019 ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย
สร้างเมื่อ: 28 สิงหาคม 2562
วันที่ 28 สิงหาคม 2562 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินร่วมงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 13 (i-CREATe 2019) ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย โดยมี นางนันทนา ศิวะเกื้อ เอกอัครราชฑูตไทย ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงแคนเบอร์รา เครือรัฐออสเตรเลีย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.อลิสา คงทน รองผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ประธานจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติฯ i-CREATe 2019 และคณะกรรมการจัดงาน เฝ้ารอรับเสด็จฯ งานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก ครั้งที่ 13 (i-CREATe 2019) เป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอผลงานวิชาการและนิทรรศการระดับนานาชาติ ด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมทั้งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการระหว่างผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับผู้ ทรงคุณวุฒิในระดับสากล ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มความร่วมมือด้านวิศวกรรมฟื้นฟูสมรรถภาพและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกแห่งเอเชีย ภายใต้ชื่อว่า CREATe Asia โดยเป็นการรวมกลุ่มระหว่าง 15 องค์กร จาก 10 ประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในภูมิภาคเอเชียและออสเตรเลีย
กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน i-CREATe 2019 ประกอบด้วยการแสดงปาฐกถาพิเศษ มุ่งเน้นให้เป็นเวทีที่ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีขั้นสูงในด้านสิ่งอำนวยความสะดวกจากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานชั้นนำ การอบรมเชิงปฏิบัติการ มุ่งเน้นให้เป็นเวทีของการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การประชุมวิชาการและการนำเสนอผลงานวิจัย การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุของนักศึกษาระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมนักเรียน นิสิต นักศึกษาให้มีความสนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ทั้งนี้ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจกรรมภายในงานและพระราชทานรางวัลเป็นประจำทุกปี
โดยในปีนี้ มีสิ่งประดิษฐ์ระดับนักศึกษาจาก 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศไทย สาธารณรัฐประชาชนจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น เครือรัฐออสเตรเลีย ไต้หวัน สาธารณรัฐไอร์แลนด์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย และสาธารณรัฐเกาหลี รวม 45 ผลงาน ผ่านการคัดเลือกและเข้าร่วมการประกวดในรอบชิงชนะเลิศ โดยการประกวดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ผลงานด้านการออกแบบนวัตกรรมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จำนวน 24 ผลงาน และผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ จำนวน 21 และผลงานที่ได้เข้ารับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีดังนี้
ผลงานด้านสิ่งประดิษฐ์สำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ
รางวัลเหรียญทอง
ผลงานชื่อ StrydeTech – Design and development of a novel mobility enablement device providing independence and confidence to those who cannot get from sitting to standing position on their own
โดย Muireann Hickey,Kevin Hayes, Cian O’Leary, Jonathan Mullane สาธารณรัฐไอร์แลนด์
รางวัลเหรียญเงิน
ผลงานชื่อ Ramp Design
โดย Alexander Tan Yong, Lim Shu, Joshua Goh Yong Sheng, Eugene Pang Yuan Jing, Kester Chew
จาก National University of Singapore สาธารณรัฐสิงคโปร์
รางวัลเหรียญทองแดง
ผลงานชื่อ Help visually impaired persons (VIPs) and the elderly to identify objects with audio reminders
โดย Owen Kwong Hau Shing, Olive Chung Wing Lam, Chloe Lam Nga Wai
จาก City University of Hong Kong เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ส่วนทีมจากประเทศไทยได้รับรางวัลสำคัญ คือ ประเภทเทคโนโลยีสิ่งประดิษฐ์ ผลงานชื่อ ReArm ได้รางวัล Best Prototype และรางวัลชมเชย (Merit Award) โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเครื่องกล
สมาชิกผู้พัฒนาผลงาน
1. นายรมย์ พานิชกุล
2. นายสิรภพ เจริญภิญโญยิ่ง
3. นายอนัส สุภัคไพศาล
4. นางสาวคคนันท์ งามเด่นเจริญศรี
อาจารย์ที่ปรึกษา
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ
รายละเอียดผลงาน ReArm
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยวิธีดั้งเดิมนั้น มักจะเน้นไปที่โปรแกรมการออกกำลังกายและการยืดเหยียดต่างๆ ตามความสามารถสูงสุดที่ผู้ป่วยจะทำได้ เพื่อช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างเต็มกำลัง แม้ว่าส่วนขาของผู้ป่วยอาจจะฟื้นตัวได้โดยเร็วด้วยวิธีดั้งเดิม แต่มีผู้ป่วยจำนวนมากยังคงฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของแขนให้กลับมาใช้งานอย่างเต็มที่ได้ยาก การฟื้นฟูสมรรถภาพการทำงานของร่างกายจึงเน้นไปที่การกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้งานหรือทำกิจกรรมในชีวิตประจาวัน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยควบคุมการเคลื่อนไหวและมีการประสานสัมพันธ์ของระบบประสาทได้ดีขึ้น สิ่งที่แตกต่างจากวิธีดั้งเดิมคือ การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายด้วยการใช้งานนั้น ทำให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวอย่างมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งเป็นการใช้งานโดยตรงจากกิจวัตรประจาวัน และยิ่งทำให้ผู้ป่วยใช้งานแขนข้างที่อ่อนแรงได้บ่อยขึ้น ดังนั้นจึงทำให้มีการฟื้นตัวได้เร็วขึ้น รีอาร์ม (ReArm) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้มอเตอร์ขับเคลื่อนแขนแบบใส่ติดตัวได้ ช่วยให้ผู้ป่วยใช้งานแขนได้เหมือนแขนไร้น้าหนัก หรือแขนเบาขึ้น ซึ่งถูกออกแบบเพื่อให้ผู้ป่วยใช้งานเองที่บ้านได้ง่าย อีกทั้งยังมีอุปกรณ์ช่วยใช้งานมือโดยกลไกสปริง ที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถกางมือเอาชนะแรงเกร็งอัตโนมัติของนิ้วมือ เพื่อหยิบจับสิ่งของได้ และประเภทการออกแบบนวัตกรรม ผลงานชื่อ Active Exo-spine (AES) ได้รางวัล Best Ergonomic Design โดยนักเรียนโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สมาชิกผู้พัฒนาผลงาน
1. นายสรสิช สิรวัฒนากุล
2. นางสาวสุพิชฌาย์ สิรวัฒนากุล
อาจารย์ที่ปรึกษา
ดร.นาถวดี นันทาภินัย
รายละเอียดผลงาน ‘Active Exo-Spine (AES)’
อาการปวดหลัง Back pain ในผู้สูงอายุส่งผลมากต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเป็นอันตรายอย่างมากซึ่งอุปกรณ์การป้องกันที่มีในท้องตลาด ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอาการดังกล่าว Back support ซึ่งมีข้อเสียในการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน โดยการใส่ Back support นั้นทำให้เราไม่สามารถขยับตัวได้เต็มที่ตามที่เราต้องการ นอกจากนี้ผู้สูงอายุส่วนมากจะเกิดสภาวะหลังค่อม Postural Kyphosis ที่สะสมมาตั้งแต่เด็กโดยการนั่งหลังค่อมดังนั้นเราจึงพัฒนาอุปกรณ์ป้องกันการเกิดอาการ Back pain และ Kyphosis โดยให้ผู้สวมใส่ สวมได้ตลอดวันอย่างสะดวกสบาย เคลื่อนที่ได้คล่องตัว และเพื่อทดแทนจากรูปแบบของการป้องกันและรักษาที่มีอยู่ AES ออกแบบมาให้มีลัษณะคล้ายกับกระดูกสันหลังของคน มีรูปร่างและขนาดที่กระทัดรัดและเบา เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสวมใส่ได้สบาย โดยจุดเด่นของ AES นี้ที่ต่างจาก Back support หรือ Passive Exo-spine ที่มีขายอยู่ทั่วไปคือ AES จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถขยับร่างกายท่อนบนได้คล่องแคล่วมากขึ้นจากการที่ตัว AES มีความยืดหยุ่นในตัว แต่เมื่อ AES มีการตรวจพบท่าทางผิดของผู้สวมใส่ AES ก็จะสามารถปรับรูปร่างของตนเองเพื่อปรับท่าทางของผู้สวมใส่ ให้อยู่ในท่าทางที่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นการนั่งหลังค่อมการแบกเป้หรือของหนักๆ และการยกของผิดท่าทางในคนโดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโอกาสบาดเจ็บได้ง่าย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
: https://www.nectec.or.th/news/news-pr-news/icreate2019-aus.html