มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ร่วมกับ สวทช. ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน
และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
จัดอบรมหลักสูตรการทำโครงงานเกษตรอัฉริยะ (AI Coding for Smart Agriculture)
(วันที่ 27 กันยายน 2566): ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นประธานในพิธีมอบเงินสนับสนุนการทำโครงงานให้กับนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะด้านสะเต็มและโค้ดดิ้ง (STEM and Coding Skills) แก่เยาวชนในชนบท เพื่อก้าวสู่ยุวเกษตรกรอัจฉริยะในอุตสาหกรรมเกษตรแม่นยำ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) โดยมีโรงเรียนเป้าหมายภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ที่ผ่านการคัดเลือกข้อเสนอโครงงานด้านเกษตรอัตโนมัติเกษตรแม่นยำ จำนวน 46 โครงงาน จากโรงเรียน 31 แห่ง รวมจำนวนทั้งสิ้น 114 คน เข้าร่วมอบรมหลักสูตร “การทำโครงงานเกษตรอัฉริยะ (AI Coding for Smart Agriculture)” ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน 2566 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ดร.พัชร์ลิตา ฉัตรวริศพงศ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักเรียนที่ผ่านการพิจารณารับทุนสนับสนุนการพัฒนาทักษะด้านสะเต็มและโค้ดดิ้ง (STEM and Coding Skills) ซึ่งจะเป็นกำลังใจและสร้างแรงจูงใจให้กับเยาวชนจากโรงเรียนต่าง ๆ ทั้งโรงเรียนสอนนักเรียนพิการ กลุ่มโรงเรียนพระประปริยัติธรรม สามเณรจากกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม รวมถึงโรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) ภายใต้มูลนิธิฯ ได้นำทุนพัฒนาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนของตนเองและเพื่อน ๆ ร่วมสถานศึกษามากที่สุด สำหรับโครงงานที่ได้รับทุนสนับสนุนมีจำนวนทั้งสิ้น 46 โครงงาน จากโรงเรียน 31 แห่ง โดยแต่ละโครงงานจะได้รับทุนสนับสนุนไม่เกิน 5,000 บาท (ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำโครงงาน) จำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 226,491 บาท
ทั้งนี้ ตลอดการอบรมเชิงปฏิบัติการทั้ง 3 วัน นักเรียนที่เข้าร่วมอบรมจะได้ทดลองลงมือปฏิบัติจริงด้านการพัฒนาโครงงานแบบกลุ่ม อีกทั้งได้รับองค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิต่าง ๆ อาทิ การโค้ดควบคุมไมโครคอนโทรเลอร์ และหลักการควบคุมอัตโนมัติทั้งแบบอนาลอกและดิจิทัล, การพัฒนาโครงงานด้วยโค้ดดิ้ง เพื่องานการเกษตรอัจฉริยะ โดย รศ.ยืน ภู่วรวรรณ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การประยุกต์เอไอโมเดลกับงานการสร้างนวัตกรรม โครงงานเกษตรอัจฉริยะเป็นโครงงานที่สร้างสรรค์และประยุกต์ต้นแบบ โดย รศ.พันธุ์ปิติ เปี่ยมสง่า ภาควิชาคอมพิวเตอร์ ม.เกษตรศาสตร์ เป็นต้น โดยมีนางสาวเยาวลักษณ์ คนคล่อง ผู้อำนวยการสำนักงานประสานงานโครงการตามพระราชดำริฯ นายนพดร ปัญญาจงถาวร รองผู้อำนวยการงานส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพชั้นสูง สถาบันพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต สวทช. นายนริชพันธ์ เป็นผลดี ผู้ช่วยวิจัยอาวุโส ทีมวิจัยเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัลศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอีกหลายท่าน เข้าร่วมกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม สวทช. คาดหวังว่าโครงการดังกล่าว จะเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้จัดทำ โครงงานหรือนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมให้เกิดทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ การแก้ปัญหาเป็น และเรียนรู้การทำงานกับผู้อื่นผ่านกระบวนการทำโครงงานได้ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แก่เยาวชนทุกคนในยุคดิจิทัล