สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินร่วมพิธีปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ครั้งที่ 67 และพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ 30 มิถุนายน 2560 : สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินร่วมพิธีปิดงานประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ครั้งที่ 67 ค.ศ. 2017 ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยเชิญผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัย ประมาณ 70 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุม โดยทรงร่วมฟังการเสวนาหัวข้อ “จริยธรรมทางวิทยาศาสตร์” (Ethics in Sciences) จากนั้น ได้ทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการสนับสนุนผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ครั้งที่ 4 ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กับ ประธานสภาการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล โดย Countess Bettina Bernadotte ประธานสภา และมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล โดย Professor Dr. Jurgen Kluge ประธานมูลนิธิ และ ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และ Mr. Nikolaus Turner กรรมการมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ได้ร่วมลงนามเป็นสักขีพยานด้วย ซึ่งครั้งนี้เป็นการลงนามครั้งที่ 4 (การลงนามในครั้งที่ 1, 2 และ 3 เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2551, 2553 และ 2556 ตามลำดับ) โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความร่วมมือทุกครั้ง และการเสด็จการประชุมรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ครั้งนี้ ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดับโลกเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปี 2551 ถึงปัจจุบัน ทรงพยายามหาเวลาเสด็จพระราชดำเนินไปทรงร่วมการประชุมเพื่อให้ความสัมพันธ์ไม่ขาด ทรงขวนขวายติดต่อกับสภาการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบลและในฐานะที่ทรงวุฒิสภากิตติมศักดิ์ของมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของไทย มีโอกาสพบปะ มีเวทีแสดงความคิดเห็น การคัดเลือกผู้เข้าร่วมประชุมทำอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ได้คนที่สมควรสนับสนุน จะได้เป็นกำลังสำคัญของชาติด้านวิทยาศาสตร์ต่อไป
บันทึกความร่วมมือที่ลงนามในครั้งนี้ มีระยะเวลา 3 ปี (ค.ศ. 2018 – 2020) โดยประเทศไทยสามารถส่งนักศึกษา นักวิทยาศาสตร์ และ/หรือนักวิจัย ตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงระดับหลังปริญญาเอก (Postdoctoral Fellows) เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวได้ปีละ 6 คน การที่ประเทศไทยได้รับโอกาสในการส่งนักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เข้าร่วมการประชุมระดับโลกเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชประสงค์จะให้นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมและเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาต่างๆ ประกอบด้วย ฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยา หรือแพทยศาสตร์ เพื่อมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ของไทยในอนาคตต่อไป ซึ่ง สวทช. ได้ร่วมสนองพระราชดำริในการคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวรวม 51 คน