สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา
ครั้งที่ ๗๒ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
การประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Lindau Nobel Laureate Meetings) เป็นการประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยได้เชิญผู้ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Laureate) นักศึกษาและนักวิจัยจากทั่วโลกเข้าร่วมการประชุม เริ่มการประชุมครั้งแรกตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๕๑ ณ เมืองลินเดา เกาะขนาดเล็กทางตอนใต้ของเยอรมนี บริเวณทะเลสาบโบเดนเซ (Bodensee) พรมแดนธรรมชาติระหว่างเยอรมนี ออสเตรีย และสวิตเซอร์แลนด์
การประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันได้มุ่งเน้นผู้เข้าร่วมประชุมกลุ่มเยาวชน นักศึกษา และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสูงจากนานาประเทศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามคำขวัญ ๓ ประการ คือ (๑) ให้ความรู้ (educating) (๒) สร้างแรงบันดาลใจ (inspiring) และ (๓) เชื่อมโยงเครือข่าย (connecting) ทั้งนี้ สภาการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (The Council for the Lindau Nobel Laureate Meetings) ร่วมกับมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา (Foundation Lindau Nobel Laureate Meetings) จัดการประชุมนี้ขึ้นทุกปีในช่วงประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม หมุนเวียนไปตามสาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี และสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ และจะจัดการประชุมทั้งสิ้น ๖ วัน โดยมีพิธีเปิดที่เมืองลินเดาในวันแรกและพิธีปิดที่เกาะไมเนาในวันสุดท้าย สำหรับสาขาเศรษฐศาสตร์ จะจัดขึ้นทุก ๒ ปี เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๔
การประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้เป็นการจัดขึ้นครั้งที่ ๗๒ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ – ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ มุ่งเน้นด้านการค้นคว้าวิจัยทางสรีรวิทยา/ยา (physiology/medicine) ซึ่งมีผู้ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลกว่า ๔๐ คน และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่กว่า ๖๐๐ คน เข้าร่วมการประชุมฯ ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศไทยที่ดำเนินการคัดเลือกโดยโครงการการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จำนวน ๖ คน ที่ผ่านมา จากพระราชดำริของสมเด็๗พระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงริเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน โครงการฯ ได้สนับสนุนผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๘๑ คน จำแนกตามสาขาการประชุมในแต่ละปี ได้ดังนี้ สาขาฟิสิกส์ ๒๑ คน สาขาเคมี ๒๓ คน, สาขาเคมี ฟิสิกส์ สรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ๑๗ คน และสาขาสรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ ๒๐ คน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุม ในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. ตามคำเชิญของมูลนิธิการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นผู้จัดงาน ในฐานะวุฒิสภากิตติมศักดิ์ (Honorary Senate) ของมูลนิธิฯ หลังเสร็จสิ้นพิธีเปิด ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ นำคณะผู้แทนไทยที่เข้าร่วมการประชุมจำนวน ๖ คน และผู้บริหารของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ เข้าเฝ้าฯ และร่วมฉายพระฉายาลักษณ์ ที่โรงแรม Bayerischer Hof.
ผู้แทนประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกโดยโครงการการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ภายใต้มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ให้เข้าร่วมการประชุมในปีนี้ จำนวน ๖ คน ประกอบด้วย
๑. ดร.พินันทา นิตยาจาร นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขารังสีวิทยา Case Western Reserve University, USA
๒. พญ.ณัฐชญา สุคนธ แพทย์ประจาบ้านชั้นปีที่ 2 สาขาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
๓. น.ส.ไพลิน เจียระนันท์ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาภูมิคุ้มกันวิทยา University of Toronto, Canada
๔. ดร.ภูมิ ชัยรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
๕. พญ.พรลดา ลิขสิทธิ์วัฒนกุล นักวิจัยหลังปริญญาเอก Department of Medical Oncology, Dana-Farber Cancer Institute, USA
๖.ดร.นรินธเดช เจริญสมบัติ นักวิจัยหลังปริญญาเอก สาขา Bioengineering, Mayo Clinic, USA
นอกจากนี้ ยังมีคนไทยอีก ๑ คน ที่ได้รับการคัดเลือกจาก The Royal Swedish Academy of Science คือ ดร.ณัญญา โชติวรรณ อาจารย์โรงเรียนแพทย์รามาธิบดี สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (ได้รับการคัดเลือกจาก The Royal Swedish Academy of Science ให้เข้าร่วมการประชุมแบบออนไลน์ในปี ๒๐๒๐ และfปีนี้ ได้รับเชิญจากผู้จัดให้เข้าร่วมการประชุมแบบ onsite ที่ลินเดา)
ในพิธีเปิดการประชุมในวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๖ มีการกล่าวถ้อยแถลงจาก นาง Bettina Stark-Watzinger รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาและวิจัยแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นาย Al Gore อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาและผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี ค.ศ. ๒๐๐๗ และนาย Martin Polaschek รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษา วิทยาศาสตร์และการวิจัยแห่งออสเตรีย