TH  |  EN

2 นักวิจัยจากจุฬาฯ ลุยอาร์กติกถึงละติจูด 90 เหตุน้ำแข็งละลาย

 

    2 ทีมนักวิจัยไทยจากจุฬาฯ ร่วมสำรวจอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ) กับอีก 100 ชีวิตบนเรือตัดน้ำแข็ง “ซูหลง” ของจีน 3 เดือน ตะลุยถึงณ ละติจูด 90 องศาได้สำเร็จ บ่งชี้โลกร้อนกระทบน้ำแข็งละลาย วิจัยไมโครพลาสติก
วันนี้ (24 พ.ย.2566) ผู้สื่อข่าวรายงาน 2 นักวิจัยไทยจากจุฬาลงกรณ์มหา วิทยาลัย ดร.สุจารี บุรีกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วย นายอานุภาพ พานิชผล นักวิจัยจากสถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ ได้เดินทางไปอาร์กติก (ขั้วโลกเหนือ)

    ภายใต้โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ของมูลนิธิเทคโนโลยีสาร สนเทศตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

    โครงการดังกล่าว นักวิจัยไทยได้ร่วมกับคณะสำรวจอาร์กติกจากประเทศจีนรุ่นที่ 13 เป็นเวลา 3 เดือน เดินทางโดยเรือตัดน้ำแข็ง “ซูหลง 2” ของประเทศจีน ซึ่งในปีนี้ เป็นปีแรกที่คณะสำรวจของประเทศจีน สามารถเดินทางไปถึงจุดที่เป็นขั้วโลกเหนือ ณ ละติจูด 90 องศาได้สำเร็จ

ภาพ เรือชูหลง

 

    ในระหว่างการเดินทาง นักวิจัยจากประเทศจีน รัสเซีย และไทย รวม 100 ชีวิตในเรือตัดน้ำแข็ง ร่วมกันสำรวจวิจัยทางสมุทรศาสตร์ เพื่อศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ขั้วโลกเหนือ

     โดยได้มีการเก็บตัวอย่างคุณภาพน้ำทะเล ดินตะกอน แพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์ทะเลบางชนิด เพื่อตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเปรียบเทียบกับในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในระหว่างทางนักวิจัยยังได้เห็นหมีขาว วอลรัส และวาฬนำร่อง ซึ่งสัตว์เหล่านี้อาจจะได้รับผลกระทบจากการที่น้ำแข็งละลายอีกด้วย

    ส่วนในเรื่องของมลพิษในทะเล เช่นการสะสมของไมโครพลาสติกที่ปนเปื้อนในน้ำทะเล และในอากาศบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

จากสำนักข่าว :  www.thaipbs.or.th