2 นักวิจัยไทย ในโครงการตามพระราชดำริฯ ร่วมปฏิบัติภารกิจ สำรวจ “ขั้วโลกใต้”
1. เรือโท ดร. ชนะ สินทรัพย์วโรดม
อาจารย์และนักวิจัยภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- เยี่ยมชมหอปฏิบัติการไอซ์คิวป์ (IceCube Laboratory) ที่ตั้งอยู่ที่บริเวณสถานีวิจัยอมันด์เซ่น สก็อตต์ ที่ขั้วโลกใต้
- โบกธงพระนามาภิไธย “สธ.” ณ ขั้วโลกใต้ ใจกลางทวีปแอนตาร์กติก โดยธงพระนามาภิไธยฯ ดังกล่าว เป็นธงที่ได้รับพระราชทานเมื่อครั้งที่เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ก่อนออกเดินทาง
2. นางสาวอัจฉราภรณ์ ผักหวาน
นักวิจัยที่ร่วมเดินทางไปขั้วโลกใต้
กับคณะของสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Polar Research Institute; KOPRI)
เดินทางขึ้นเรือตัดน้ำแข็ง Araon ของเกาหลี เพื่อทำงานวิจัยในโครงการที่เป็นความร่วมมือระหว่างไทย (โครงการความร่วมมือไทย–ไอซ์คิวบ์ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) กับ KOPRI ของเกาหลีใต้ โดยมี ผศ. ดร. วราภรณ์ นันทิยกุล และผศ. ดร. ศิรามาศ โกมลจินดา จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางไปส่งนางสาวอัจฉราภรณ์ฯ ที่ประเทศนิวซีแลนด์ด้วย โดยเรือตัดน้ำแข็ง Araon จะเดินทางจากประเทศนิวซีแลนด์ ไปเขตวิจัยทางทะเลอนัมด์เซน (Amundsen Sea Research Area) สถานีวิจัยจางโบโก (Jang Bogo Station) และสิ้นสุดการเดินทาง ณ เมืองกวางยาง สาธารณรัฐเกาหลี คณะนักวิจัยจากไทยจะลองใช้งานเครื่องตรวจวัดนิวตรอนช้างแวนที่ติดตั้งบนเรือตัดน้ำแข็ง Araon หลังจากที่มีไฟฟ้าจ่ายบนเรือ หลังจากนั้นนางสาวอัจฉราภรณ์ฯ จะเดินทางไปกับช้างแวนเพื่อทำการสำรวจรังสีคอสมิกที่เดินทางตัดข้ามละติจูดต่าง ๆ ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 – มีนาคม 2567 เรือ Araon มีกำหนดการออกจากท่าเรือ Lyttelton ประเทศนิวซีแลนด์ ในวันที่ 28 ธันวาคม นี้