ความเป็นมาโครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับชุมชนชายขอบ
การพัฒนาระบบไอซีทีเพื่อการเรียนรู้สำหรับโรงเรียนชุมชนในพื้นที่ห่างไกล
การลดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่อยู่ห่างไกลและทุรกันดารที่โครงสร้างพื้นฐานหลัก อาทิ ไฟฟ้าและโทรศัพท์ยังเข้าไปไม่ถึง เช่น พื้นที่ภูเขา หรือพื้นที่ป่า ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ของประเทศและยังนับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตจะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชากรในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียม
โครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ(ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา (กศน.), รร.ตชด และสพฐ.)
ความเป็นมา
ด้วยสถานศึกษาและศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตจังหวัดตาก เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ห่างไกลและประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าเพื่อใช้สำหรับการเรียนการสอน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (สสท.) ได้แจ้งความประสงค์ที่จะติดตั้งระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มายังสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งขณะนั้นได้ดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบสายการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ ในปีนั้น สวทช. จึงได้นำแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตจากต้นแบบสายการผลิตมาประยุกต์ใช้งา นให้เป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าแก่ศูนย์การเรียนรู้ในท้องถิ่นทุรกันดาร จำนวน ๓๖ แห่ง
ในการดำเนินงาน สวทช. ได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาอีก ๗ หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (สสท.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกันจัดทำ “โครงการนำร่องการบริหารระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในสถานศึกษาและศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ระยะที่ ๑” ภายใต้บันทึกข้อตกลงฯ เป็นระยะเวลา ๓ ปี (ตั้งแต่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๕๔) โดยโครงการดังกล่าวเป็นการนำระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบ Stand Alone ที่มีขนาดกำลังไฟฟ้าสูงสุด ๔๘๐ วัตต์ (Wp) ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใช้งานอุปกรณ์ในแต่ละวันประมาณ ๑.๕ หน่วย (กิโลวัตต์/ชั่วโมง) ไปติดตั้งให้กับศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาจำนวน ๓๖ แห่ง (สังกัดสพฐ. จำนวน ๑๒ แห่ง และสังกัด กศน. จำนวน ๒๔ แห่ง) ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อให้มีไฟฟ้าสำหรับโทรทัศน์ซึ่งใช้รับชมการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และเครื่องใช้ไฟฟ้าจำเป็นพื้นฐาน เช่น หลอดไฟฟ้าส่องสว่าง เครื่องเล่น VCD เครื่องขยายเสียง และวิทยุสื่อสาร เป็นต้น
เมื่อเริ่มโครงการระยะที่ ๒ (ปี ๒๕๕๕ – ๒๕๕๘) สวทช. ทราบว่า กระทรวงพลังงาน มีโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่ศูนย์การเรียนชุมชนไทยภูเขาฯ รวมทั้งในพื้นที่ห่างไกลอื่น ๆ จึงได้หารือกับกระทรวงพลังงานเรื่อง ขอมอบศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน ๑๒ แห่ง ให้อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงพลังงาน และเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๖ กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ตอบรับดูแลเรื่องระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาฯ ในสังกัด สพฐ. จำนวน ๑๒ แห่ง โดยจะจัดเข้าแผนงานประจำปีตั้งแต่ปี ๒๕๕๗ และเปลี่ยนแนวทางการดำเนินงานมามุ่งเน้นติดตั้งระบบติดตามข้อมูลการใช้ไฟฟ้า และการบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้นำไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ในการเรียน และหาทางแก้ไขเมื่อระบบชำรุดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๙ เป็นต้นไปการดำเนินงานโครงการระยะที่ ๓ จะดำเนินงานภายใต้ “โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับชุมชนชายขอบ (ICT for Marginalized Area)” วัตถุประสงค์เพื่อลดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีในพื้นที่ชนบทให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและสารสนเทศได้อย่างเท่าเทียมกันโดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวนโรงเรียน ๒๐ แห่ง (ซึ่งรวมศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขาฯ ในสังกัด กศน. จำนวน ๘ แห่งที่สวทช. ดำเนินการมาก่อนหน้านี้) ระยะเวลาโครงการ ๓ ปี (เมษายน ๒๕๕๙ – มีนาคม ๒๕๖๒)