ผลการดำเนินงานปี 2565 โครงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริ
วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม 2566 เวลา 9.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยวาระการประชุม เป็นการติดตามและพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมูลนิธิฯ ในปี2565 รวมถึงพิจารณาแผนการดำเนินงานในปี 2566 รวม 12 โครงการ ศาสตราจารย์ ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการพร้อมด้วยคณะกรรมการและที่ปรึกษามูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้บริหารและนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและสถาบันอุดมศึกษา ได้ร่วมกันถวายรายงานผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ใน การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยการร่วมมือกับสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาชั้นนำของโลกในสาธารณรัฐประชาชนจีน สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ เป็นสำคัญ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถ และศักยภาพของบุคลากร อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวม
ตัวอย่างของผลงาวิจัยและพัฒนาได้แก่
(1) โครงการเกี่ยวกับการบำบัดมะเร็งด้วยโปรตอน ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบัน GSI/FAIR (อ่าน “จี เอส ไอ แฟร์”) ที่เยอรมัน มีศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งบริเวณของร่างกายที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นประมาณ 250 รายในปี 2565 คาดว่าในปีต่อๆไปจะรองรับผู้ป่วยได้ปีละ 400-500 คน นอกจากนี้ยังนักศึกษาจากจุฬาฯ ได้ไปเข้าร่วมการทดลองชื่อ Carbon Ion FLASH Experiment เป็นการบำบัดมะเร็งแบบใหม่อีกด้วย
(2) โครงการพัฒนาสร้างเครื่องเร่งอนุภาคแนวตรง เพื่ออาบผลไม้และผลิตผลการเกษตร โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ทั้งนี้เป็นการพัฒนาขึ้นเองในประทศไทยซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการทำงานร่วมกับเซิร์นในสวิตเซอร์แลนด์ ได้ทดสอบการฉายรังสีเอ็กซ์บนผลไม้สด พบว่าเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคลดลงอย่างมาก และยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้อาหารเน่าเสีย ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ในอนาคต และยังได้พัฒนากำลังคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญพิเศษเพื่อการนี้อีกด้วย
(3) โครงการสร้างนาฬิกาอะตอมเชิงแสง โดยสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ซึ่งใช้ความรู้เรื่องควอนตัมร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีควอนตัม (Centre for Quantum Technologies :CQT) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ นับเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยจะสามารถสร้างนาฬิกาอะตอมขึ้นเองได้ในประเทศนำไปแทนนาฬิกาเดิมซึ่งนำเข้าจากต่างประเทศ ในปี 2565 ประสบความสำเร็จในการกักขังไอออนเย็นของธาตุอิตเทอเบียม เมื่อโครงการวิจัยแล้วเสร็จ คาดว่าจะได้นาฬิกาอะตอมเชิงแสงที่มีความแม่นยำมากกว่านาฬิกาอะตอมซีเซียมในปัจจุบัน (มากกว่าถึง 1,000 เท่า) หรือนั่นคือประมาณ 300 ล้านปีจึงจะเคลื่อนไป 1 วินาที นำไปใช้ประโยชน์ของประเทศเช่นกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ การระบบระบุพิกัดด้วยระบบดาวเทียมนำทาง และระบบการกระจายเวลามาตรฐานไทย การใช้งานระบบการทำธุรกรรมออนไลน์และระบบการสื่อสารต่างๆ เป็นต้น
(4) โครงการภาคีความร่วมมืออวกาศไทย (Thai Space Consortium หรือ TSC) เป็นการผนึกกำลังของ 13 หน่วยงานวิทยาศาสตร์และสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยมีสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยประสานงาน พัฒนาดาวเทียมวิจัย TSC-Pathfinder ซึ่งเป็นดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อสำรวจทรัพยากรโลก ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันทัศนศาสตร์กลศาสตร์ขั้นสูงและฟิสิกส์แห่งฉางชุน สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน มีการส่งวิศวกรไทย ไปเรียนรู้การออกแบบ พัฒนาและสร้างดาวเทียม ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน นอกจากนี้ยังมีแผนการเริ่มส่งนักวิจัยไทยไปทวีปแอนตาร์กติกหลังยุค COVID-19 กับจีนในปลายปี 2566 การร่วมกับมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกาในการตรวจหาแหล่งกำเนิดอนุภาคนิวทริโนจากหลุมดำในใจกลางกาแลกซีโดยการร่วมทำงานที่ทวีปแอนตาร์ติกเช่นกัน การพัฒนากำลังคนและเครื่องมือแพทย์และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนสูงอายุและคนพิการ การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตรร่วมกับสถาบันจูลิชของเยอรมันและประเทศเพื่อนบ้านของไทย
ภาพรวมของการดำเนินงานทั้ง 12 โครงการ จนถึงปี 2565 มีพันธมิตรที่ร่วมดำเนินโครงการในประเทศไทยประมาณ 45 หน่วยงาน และในประเทศอื่นๆ อย่างน้อย 10 ประเทศ มากกว่า 30 โครงการ โดยมีผู้ได้รับการพัฒนา และ/หรือได้รับประโยชน์จากกิจกรรมของโครงการ รวมทั้งสิ้นกว่า 2,400 คน
วาระ | Documents | Present |
3.1 โครงการความร่วมมือไทย – KATRIN และ KIT ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.2 โครงการความร่วมมือไทย – ไอซ์คิวบ์ ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.3 โครงการความร่วมมือไทย – สิงค์โปร์เพื่อพัฒนานาฬิกาอะตอมเชิงแสง ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.4 โครงการความร่วมมือไทย – GSI/FAIR ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.5. โครงการความร่วมมือไทย – เดซี ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.6. โครงการความร่วมมือไทย – เซิร์น ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.7. โครงการความร่วมมือไทย – สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.8 โครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.9 โครงการภาคีวิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering Consortium) ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.10 โครงการความร่วมมือไทย – จูลิช ตามพระราชดำริฯ | Download | Download |
3.11 โครงการคัดเลือกผู้แทนเข้าร่วมโครงการ/กิจกรรมระยะสั้น | ||
3.11.1 การประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี | Download | Download |
3.11.2 การประชุม Global Young Scientists Summit: GYSS ณ สาธารณรัฐสิงคโปร์ | Download | Download |
3.12 โครงการคัดเลือกผู้รับทุนไปศึกษาระดับปริญญาโท-เอก ณ ต่างประเทศ (มหาวิทยาลัยซีอานเจียวทง/จีน เทคโนโลยีนันยาง/สิงคโปร์ คอลเลจดับลิน/ไอร์แลนด์ ซุงกุนกวาน/เกาหลี สโกลโกโว/รัสเซีย และSUTD/สิงคโปร์) | Download | Download |