TH  |  EN

ความเป็นมาโครงการความร่วมมือกับจูลิช (Jülich) ตามพระราชดำริฯ

 


     ศูนย์วิจัยจูลิช (Jülich Research Center) เป็นสมาชิกของสมาคมเฮ็ล์มโฮล์ท (Helmholtz Association) ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและเป็นศูนย์วิจัยหลากสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป ก่อตั้งเมื่อ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1956 โดยมลรัฐไรน์-เวสต์ฟาเลียเหนือ (North Rhine-Westphalia) ก่อนที่จะกลายไปเป็นศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ในปี ค.ศ. 1967 มีงานวิจัย 4 สาขาได้แก่ สุขภาพ สารสนเทศ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน งบประมาณประจำปีราว 705 ล้านยูโร (ค.ศ. 2018) งบประมาณจากรัฐแบ่งออกเป็น ร้อยละ 90 จากรัฐบาลกลาง และ ร้อยละ 10 จากมลรัฐไรน์-เวสต์ฟาเลียเหนือมีบุคลากรมากกว่า 6,000 คน (ค.ศ. 2018)ศูนย์วิจัยจูลิชประกอบด้วยสถาบันสำคัญ 7 แห่ง โดยสถาบันที่มีความร่วมมือกับหน่วยงานของไทย (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)) คือ สถาบันวิทยาการชีววิทยาและธรณีศาสตร์ (Institute of Bio- and Geosciences :IBG)     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทอดพระเนตรกิจกรรมของจูลิช(JÜLICH (IBG-2 Plant Science)) และ ประทับเป็นประธานการลงนามความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับจูลิช และ มจธ. กับ จูลิชเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ บันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน ระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกับฟอชุมเซนทรัม จูลิช (โดยผู้แทนสวทช. ที่ไปร่วมลงนาม ได้แก่ ดร. ชฎามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการสวทช. และผู้ลงนามเป็นสักขีพยานได้แก่ ศ. ดร. ไพรัช ธัชยพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส สวทช. และกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) และ บันทึกความเข้าใจเรื่องการริเริ่มและยกระดับความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กับฟอชุมเซนทรัม จูลิช ซึ่งการลงนามความร่วมมือนี้มีขอบเขตความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งการแลกเปลี่ยนบุคลากร จัดประชุม ฝึกอบรม ทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันระหว่างสองฝ่าย

     รวมถึงบริษัท สถาน  ประกอบการที่ตั้งอยู่ในเยอรมนีและประเทศไทยในลักษณะทวิภาคี หรือพหุภาคี ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่เกิดจากความสนใจของทั้งสองฝ่าย และเสด็จพระราชดำเนินไปกลุ่มอาคารเรือนกระจกสถาบันวิจัยยูลิช ทอดพระเนตรเครื่องมือที่ใช้ทำงานวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ ได้แก่ เครื่อง NMR ใช้วัดปริมาณของแข็งและของเหลวในต้นพืช และเครื่อง MRI ใช้ถ่ายภาพตัดขวางลำต้นพืช และทอดพระเนตรงานวิจัยเรื่องราวของพืช เช่นการศึกษาสรีรวิทยา และพันธุกรรมศาสตร์ของมันสำปะหลัง เป็นการวิจัยที่ใช้แม่เหล็กวิเคราะห์แสงรวบรวมข้อมูล เรื่องที่เกี่ยวกับระบบราก ลำต้น ใบ ทุกกระบวนการที่เกี่ยวกับลำต้นของพืช และงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ ที่นักวิจัยศูนย์วิจัยจูลิชทำร่วมกับนักวิจัยไทย (สวทช. มจธ. และกรมวิชาการเกษตร)

     นอกจากนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ยังเสด็จพระราชดำเนินไปอาคารดวงอาทิตย์จำลอง ทรงทอดพระเนตรอุปกรณ์และห้องทดลองดวงอาทิตย์จำลอง ซึ่งเป็นโครงการทดลองที่สถาบันวิจัยพลังงานแสงอาทิตย์ แห่งศูนย์การบินอวกาศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (DLR) ริเริ่มให้มีขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อแสวงหาวิธีผลิตพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรศูนย์ประมวลผลข้อมูลด้วยซุปเปอร์คอมพิวเตอร์จูลิช ซึ่งมีระบบประมวลข้อมูลที่เร็วที่สุดในประเทศเยอรมนี เร็วเป็นลำดับ 23 จาก 500 อันดับซุเปอร์คอมพิวเตอร์ที่เร็วที่สุดในโลก มีการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยจำนวนมาก มีการนำข้อมูลไปใช้ในการทำแบบจำลองและการคาดการณ์ ตัวอย่างการประยุกต์ใช้ เช่นในการเกษตร การศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น