สถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียล ชื่อเดิม “วิทยาลัยกำปงเฌอเตียล” นั้นไม่มีระบบสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้าและน้ำประปา การจัดการเรียนการสอนและการพักอาศัยจึงจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าจากเครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล (Diesel Generator) สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงทรงมีพระราชดำริให้หาวิธีบริหารพลังงานในวิทยาลัยอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
สถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียล ตั้งอยู่ในอำเภอปราสาทซ็อมโบร์ จังหวัด กำปงธม ประเทศกัมพูชา โดยสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีได้สนองแนวพระราชดำริ น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินบริเวณใจกลางประเทศจำนวน 45 ไร่ (ต่อมาได้ขยายเป็น 117 ไร่) เป็นพื้นที่ก่อสร้าง สถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียลเปิดอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 โดยเปิดสอนทั้งสายสามัญ (เกรด 7-12) และสายอาชีวศึกษา (เกรด 10-12) จำนวน 4 สาขาวิชา คือ สาขาวิชาไฟฟ้า สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์ สาขาวิชากสิกรรม และสาขาวิชาปศุสัตว์ โดยปัจจุบันมีนักเรียนมากกว่า 1,500 คน
ที่ผ่านมาสถาบันฯ ใช้เครื่องผลิตไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซล (Diesel Generator) จำนวน 3 ตัว เปิด- ปิดสลับกันตามวันคู่-วันคี่ และในแต่ละวันจะเปิด-ปิดเป็นช่วงเวลา ทำให้มีค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำมันดีเซลในแต่ละเดือนเป็นหลักแสนบาท กรมราชองครักษ์ซึ่งรับผิดชอบดำเนินโครงการตามพระราชดำริที่สถาบันฯ จึงได้ปรึกษาหารือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อดำเนินงานบริหารจัดการ และติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดำเนินการติดตั้งมิเตอร์วัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดของสถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียล เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและสำรวจข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้า ทั้งหมด 10 โซน โดยทำการเก็บข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าเป็นเวลานาน 12 เดือน (มกราคม – ธันวาคม 2556) พบว่า ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยต่อเดือน 363 กิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยแบ่งเป็น กลางวัน (06.00-18.00 น.) 235 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (ร้อยละ 65) และ กลางคืน (18.00-06.00 น.) 128 กิโลวัตต์-ชั่วโมง (ร้อยละ 35) ซึ่งข้อมูลพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าของโหลดพลังงานนำไปประกอบการออกแบบขนาดและการทำงานของระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะติดตั้ง
ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ของสถาบันเทคโนโลยีกำปงเฌอเตียล สวทช. ได้ติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 126 kWp โดยแบ่งเป็นระบบแรก 70 kWp (56%) เพื่อผลิตไฟฟ้าไปใช้ในเวลากลางวันโดยตรง และระบบย่อยที่สอง 56 kWp (44%) เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ในแบตเตอรี่สำหรับใช้ในเวลากลางคืน หากช่วงเวลาใดมีการใช้ไฟฟ้าเกินกำลังที่เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตได้ ระบบจะสั่งให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าด้วยน้ำมันดีเซลทำงานเสริมเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอกับความต้องการ ทั้งนี้ สวทช. ยังเพิ่มระบบติดตามสภาพการทำงานแบบเวลาจริงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้สามารถควบคุม และดูแลระบบได้จากระยะไกล
ปัจจุบันผู้บริหาร ครู บุคลากรและนักเรียนของวิทยาลัยกำปงเฌอเตียลกว่า 1,500 คน ได้รับประโยชน์จากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้กิจกรรมทางการศึกษาดำเนินไปอย่างราบรื่น และ ยังสามารถดูแลและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีการสอนเรื่องนี้ในหลักสูตรอีกทั้งยังมี การอบรมทางเทคนิคที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การออกแบบการใช้งานและการบำรุงรักษา เป็นต้น