การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2/2561
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เวลา 13:00 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จออก ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา ทรงเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2 ประจำปี 2561
ในการประชุมครั้งนี้มีวาระการประชุมเพื่อรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาและแผนการดำเนินงานในปี 2561 ซึ่งประกอบด้วยโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตามพระราชดำริรวม 3 โครงการ และโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของกลุ่มเด็กด้อยโอกาสอีก 5 โครงการ
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2558 โดยรับโอนโครงการและกิจกรรมที่แต่เดิมดำเนินการภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ได้ดำเนินงานตามแนวพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาความรู้และศักยภาพของเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสในสังคม มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่มหลัก คือ นักเรียนของโรงเรียนในชนบท เด็กพิการ เด็กป่วยในโรงพยาบาล ผู้ต้องขังและเยาวชนในสถานพินิจฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมในโอกาสทางการศึกษาและการอาชีพ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้วงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาชาติ โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงาน/สถาบันวิทยาศาสตร์ชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่ง
ในการทำงานมีคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการฯ และมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ประสานงานในภาพรวมของโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิฯ
ตัวอย่างโครงการและกิจกรรมที่มูลนิธิฯ ดำเนินการ เช่น โครงการส่งเสริมการใช้ไอซีทีสร้างรายได้ในกลุ่มโรงเรียนในชนบท โดยมูลนิธิฯ ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ไอซีทีในการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าของโรงเรียนหรือชุมชน สนับสนุนการทำธุรกิจออนไลน์ (e-commerce) ให้กับครู นักเรียน และชุมชน ซึ่งนอกจากช่วยในการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าแล้วยังช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง ผลการดำเนินงานในปี 2560 พบว่าครู/นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจาก 17 โรงเรียน สามารถสร้างร้านค้าออนไลน์และสามารถจำหน่ายสินค้าออนไลน์ได้ โดยในช่วงเดือนกันยายน 2560 – มกราคม 2561 โรงเรียน 17 แห่ง มียอดจำหน่ายสินค้าออนไลน์รวมเป็นเงิน 216,644 บาท ตัวอย่างร้านค้าที่ขายดี เช่น ร้านปั้นดอย 56 ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 จ.น่าน มีสินค้าแนะนำเป็น ผ้าถุงทอมือ ผ้าปัก ผ้ามัดย้อม เครื่องเงินน่าน ร้านผ้าคราม ผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 53 จ.สกลนคร มีสินค้าขายดีเป็น ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ย้อมครามที่สืบทอดภูมิปัญญาจากปราชญ์ชุมชนสู่นักเรียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อนักเรียนได้เรียนรู้การทำธุรกิจออนไลน์ สามารถนำไอซีทีไปเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าได้แล้ว ก็จะนำมาซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นเพื่อให้สามารถจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถย้อนกลับไปช่วยชุมชนโดยนำสินค้าของปราชญ์ชุมชนมาช่วยจำหน่ายได้อีกช่องทางหนึ่ง เป็นต้น
โครงการไอซีทีเพื่อการเรียนรู้สำหรับชุมชนชายขอบ ตามพระราชดำริฯ ซึ่งมูลนิธิฯ ดำเนินการร่วมกับ เนคเทค สวทช. สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ให้แก่ โรงเรียน 20 แห่ง ในสังกัดการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) จำนวน 8 แห่ง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) จำนวน 11 แห่ง และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 1 แห่ง เช่น ระบบพลังงานไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ (พลังงานแสงอาทิตย์) เครื่องมือไอซีที เพื่อนำไปใช้ในการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษา การสื่อสารโทรคมนาคม เช่น โน้ตบุค แท็บเล็ตแอนดรอยด์ และโทรทัศน์ LED ขนาด 50 นิ้ว เป็นต้น เพื่อให้นักเรียนสามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี
กิจกรรมพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้จัดทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์สมองกลฝังตัว เพื่อส่งเสริมให้เกิดทักษะการคิด การแก้ปัญหา และการเรียนรู้ผ่านกระบวนการทำโครงงาน อันเป็นทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนส่งเสริมนักเรียนเข้าร่วมนำเสนอผลงานในเวทีต่าง ๆ โดยผลงานที่เกิดขึ้นจะสร้างโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในโควตาพิเศษ การดำเนินงานที่ผ่านมามูลนิธิฯ จะจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้ด้านอุปกรณ์, วงจรอิเล็กทรอนิกส์, Internet of Things (IoT) และการเขียนโปรแกรมบนบอร์ดสมองกล เช่น GoGo Board หรือ Raspberry Pi แล้วให้ทุนทำโครงงานในเรื่องที่นักเรียนสนใจปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จำนวน 63 แห่ง ประกอบด้วย โรงเรียนในโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของโรงเรียนในชนบท (ทสรช.) จำนวน 31 แห่ง, โรงเรียนพระปริยัติธรรม จำนวน 28 แห่ง และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม จำนวน 4 แห่ง มีโครงงานเกิดขึ้นแล้วกว่า 200 โครงงาน นักเรียนมีผลงานเข้าร่วมเวทีวิชาการระดับภาคและประเทศ จำนวน 446 คน จาก 27 โรงเรียน
โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ ดำเนินงานโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นเครื่องมือช่วยในการพัฒนาทักษะและความสามารถด้านต่างๆ ของคนพิการ ทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ การศึกษาการประกอบอาชีพและการทำกิจวัตรประจำวัน เพื่อให้คนพิการสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของคนพิการ รวมทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป โดยมีโครงการย่อยที่ดำเนินการ คือ (1) โครงการให้การช่วยเหลือกรณีศึกษาพระราชทาน ให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการในพระราชูปถัมภ์ในด้านต่างๆ ได้แก่ การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การศึกษา และการประกอบอาชีพ รวมถึงการสนับสนุนให้สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้น มีคนพิการที่อยู่ในความดูแลของโครงการรวมทั้งสิ้นจำนวน 20 ราย (2) โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ ดำเนินการพัฒนาการศึกษาของนักเรียนพิการประเภทต่างๆ โดย นำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการ เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะต่างๆ ตลอดจนช่วยเพิ่มความสามารถและเติมเต็มศักยภาพและการสร้างโอกาสความเสมอภาคในการทำกิจกรรมการเรียนให้กับนักเรียนพิการ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป
เอกสารเพิ่มเติม คลิก