สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินติดตามการดำเนินงานโครงการพระราชทานความช่วยเหลือ
ด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2567 เวลา 13.45 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินติดตามการดำเนินงานโรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี นายบุญรักษ์ สรัคคานนท์ กรรมการมูลนิธิฯ นางสุพร ตรีนรินทร์ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.) นายชาญวิชญ์ แฮนเกตุ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุดรธานี ดร. กุศลิน มุสิกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นายเฉลียว สรสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร และคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรับเสด็จถวายรายงานการดำเนินงานโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนฯ
โครงการฯ เกิดด้วยพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องจากทรงเห็นว่า โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 เรียนวิทยาศาสตร์เฉพาะทฤษฎี ยังขาดการทดลองวิทยาศาสตร์ มูลนิธิฯ จึงได้ประสานงานกับหน่วยงานในประเทศไทย ดำเนินโครงการพระราชทานความช่วยเหลือด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 ให้ความช่วยเหลือโรงเรียน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน โดยมีหน่วยงานร่วมดำเนินงาน จำนวน 8 หน่วยงาน ดังนี้
[1] สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดําริ (กปร.)
[2] โครงการชลประทานอุดรธานี สำนักชลประทานที่ 5
[3] สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เวียงจันทน์
[4] สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
[5] สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
[6] โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร จ .หนองคาย
[7] วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย จ. หนองคาย
[8] มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
การดำเนินงานช่วยเหลือด้านการปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 แบ่งเป็น 3 ด้าน ดังนี้
- ด้านโครงสร้างพื้นฐานปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ ได้แก่การสร้างอาคารและห้องเรียน การติดตั้งอุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันโรงเรียน มีอาคารห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จำนวน 1 อาคาร สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงาน กปร. และก่อสร้างโดยโครงการชลประทานอุดรธานี งบประมาณทั้งสิ้น 5,161,000 บาท ได้รับชื่อพระราชทานว่าอาคาร “มั่นมิตร” แปลว่า อาคารที่นำมาซึ่งมิตรภาพอันแน่นแฟ้นมั่นคง มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ สสวท. และสวทช. สนับสนุนอุปกรณ์การทดลองวิทยาศาสตร์
- ด้านหลักสูตร และกิจกรรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ได้มีการพัฒนา และคัดเลือกกิจกรรม หลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์ที่สอดคล้องกับหลักสูตรของ สปป. ลาว รวมถึงการอบรมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ให้แก่ครู ปัจจุบันมีหลักสูตรอบรมครูวิทยาศาสตร์ จำนวน 15 หลักสูตร โดยมี สสวท. โรงเรียนปทุมเทพวิทยาคาร และมจธ. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน
- ด้านบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์ จัดอบรมเทคนิคการเรียนการสอนด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ให้แก่ครูวิทยาศาสตร์ การประชุมติดตามผล รวมทั้งการเปิดโอกาสให้ครู นักเรียนได้เข้าร่วมกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย – สปป. ลาว อย่างต่อเนื่องมากกว่า 16 ครั้ง แม้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 การพัฒนาการด้านการเรียนการสอนปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ของคณะครูโรงเรียนวัฒนธรรมหลัก 67 ก็ยังมีดำเนินการเป็นแบบ New Normal เรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัล แลกเปลี่ยนให้คำปรึกษาด้วยระบบออนไลน์ และจัดส่งอุปกรณ์ ทุกหน่วยงานร่วมกันสนับสนุนทรัพยากร ทั้งงบประมาณ ความรู้ และบุคลากรในการดำเนินงาน
ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนเริ่มมีการเรียนการสอนปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ให้นักเรียน และนักเรียนทุกคนได้ทำการทดลองปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ณ อาคาร มั่นมิตรอย่างเต็มรูปแบบ
โรงเรียนได้รายงานการวัดผลประจำเดือน ภาคเรียน และปีการศึกษา 2566 ผ่านร้อยละ 100 นอกจากนี้นักเรียนยังได้เข้าสอบแข่งขันระดับเมืองโพนโฮง ผลการสอบแข่งขัน วิชาเคมี และ วิชาฟิสิกส์ ได้อันดับที่ 1 ส่วนวิชาชีววิทยาไม่ได้มีการจัดสอบแข่งขัน ครูวิชาวิทยาศาสตร์เองก็ให้ความสนใจจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำการทดลองที่หลากหลายมากขึ้น
ในโอกาสที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนในครั้งนี้ ทางคณะครูและนักเรียน ได้สาธิตกิจกรรมการสอนการทดลองวิทยาศาสตร์ จำนวน 4 ห้อง ดังนี้
ห้องที่1 ฟิสิกส์ เรื่อง การต่อวงจรไฟฟ้า ของนักเรียนระดับชั้น ม.6
ห้องที่2 เคมี เรื่อง การเตรียมสารการไทเทรตกรด-เบส ของนักเรียนระดับชั้น ม.7
ห้องที่3 ชีววิทยา เรื่อง กล้องจุลทรรศน์ ของนักเรียนระดับชั้น ม.7
และห้องที่4 เทคโนโลยี เรื่อง โครงงานสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องจ่ายเจลแอลกอฮอล์อัตโนมัติรับมือกับสถานการณ์ COVID-19” ของนักเรียนระดับชั้น ม.7. และโครงการอื่น ๆ