นำผู้บริหารโครงการหอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ สหรัฐอเมริกา
เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลรายงานความร่วมมือระหว่างประเทศไทย
กับกลุ่มวิจัยไอซ์คิวบ์ในอนาคต
ห้องประชุมชั้น 1 ตึกหอสมุดส่วนพระองค์วังสระปทุม: วันที่ 21 มกราคม 2566 เวลา 13.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ นำคณะผู้บริหารโครงการหอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ สหรัฐอเมริกา พร้อมด้วย ผู้บริหาร นักวิจัย และเจ้าหน้าที่ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้า และแผนการดำเนินความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับกลุ่มวิจัยไอซ์คิวบ์ในอนาคต
สถานีตรวจวัดนิวทริโนไอซ์คิวบ์ (IceCube Neutrino Observatory) หรือเรียกชื่อสั้นๆ ว่า ไอซ์คิวบ์ ตั้งอยู่ที่สถานีขั้วโลกใต้อมันด์เซน-สก็อตต์ในทวีปแอนตาร์ติก (Amundsen–Scott South Pole Station) สร้างเสร็จเมื่อ ปี ค.ศ. 2010 มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ร่วมกับสถาบันชั้นนำอื่นๆ จัดตั้งหอสังเกตการณ์นิวตริโนในทวีปแอนตาร์กติกา หรือ ไอซ์คิวบ์ (IceCube) ซึ่งเป็นเครื่องตรวจวัดขนาดใหญ่ที่เกิดจากการร้อยอุปกรณ์ Digital Optical Module (DOM) ผ่านลวดสตริงเป็นจำนวนมากฝังลึกลงไปใต้น้ำแข็งเกือบ 3 พันเมตร จากพื้นผิวที่ขั้วโลกใต้ ซึ่งความรู้ที่ได้จากการสร้างหอสังเกตการณ์ในสภาวะสุดขั้ว และการศึกษาอนุภาคที่วัดได้จากเครื่องตรวจวัดนั้นจะนำมาซึ่งองค์ความรู้มหาศาลที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
สำหรับประเทศไทย มีความร่วมมือกับไอซ์คิวบ์ ในโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนและภาคีความร่วมมือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกำลังคนที่เกี่ยวข้องกับหอสังเกตการณ์นิวตริโนในทวีปแอนตาร์กติกา (Thai-Antarctic Neutrino Observatory : TANO) ตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ในปี ๒๕๖๕ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายทุนแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อพระราชทานให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการนักศึกษาภาคฤดูร้อนของหอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ (IceCube Summer Student Program) ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา จำนวนปีละ ๒ ทุน เพื่อให้นักศึกษาไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านซอฟต์แวร์ของไอซ์คิวบ์ (Icecube Software Workshop) และมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานวิจัยของหอสังเกตการณ์นิวตริโนไอซ์คิวบ์ในเชิงลึกมากขึ้น โดยมหาวิทยาลัยจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายประมาณปีละ ๗,๕๐๐ เหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นค่าที่พักในหอพักของมหาวิทยาลัย และค่าอาหาร ในระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมในโครงการฯ
ความร่วมมือกับไอซ์คิวบ์ จะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยทางด้านการขยายองค์ความรู้เกี่ยวกับงานวิจัยฟิสิกส์อนุภาคพลังงานสูงจากอวกาศ การพัฒนากำลังคนในแง่ของการศึกษาเรียนรู้ที่บูรณาการร่วมกับงานวิจัยขั้นแนวหน้าในระดับสากล และความก้าวหน้าทางวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงแบบไร้ขีดจำกัด