TH  |  EN

นำนักวิจัยที่จะเดินทางเข้าร่วมการวิจัยอาร์กติกทางเรือ
ร่วมกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (PRIC) ปี 2566
เข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี
เพื่อรับพระราชทานพรก่อนออกเดินทาง

     ห้องประชุมชั้น 1 ตึกหอสมุดส่วนพระองค์วังสระปทุม: วันที่ 20 มิถุนายน 2566 เวลา 17.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ไพรัช ธัชยพงษ์ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ นำนักวิจัยที่จะเดินทางเข้าร่วมการวิจัยอาร์กติกทางเรือ (Arctic Research Cruise) ร่วมกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China หรือ PRIC) ปี 2566 พร้อมด้วยผู้บริหารหน่วยงาน คณะกรรมการมูลนิธิฯ และเจ้าหน้าที่ จำนวน 11 คน เข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานพรก่อนออกเดินทางเดินทางเข้าร่วมการวิจัยดังกล่าว

     มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชดำริให้นักวิจัยไทยเข้าร่วมการศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้วโลก เพื่อพัฒนาความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ขั้วโลกของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ขั้วโลกระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกับหน่วยงานขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ของจีน (Chinese Arctic and Antarctic Administration : CAA) และบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือด้านการวิจัยขั้วโลกระหว่างหน่วยงานไทย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน มีวัตถุประสงค์คือ เพื่อสร้างความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขั้วโลกในด้านต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการ รองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของประเทศไทยเดินทางไปศึกษาและทำวิจัยในขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ จำนวน 28 พระองค์/คน (พื้นที่ขั้วโลกใต้ จำนวน 15 พระองค์/คน และพื้นที่ขั้วโลกเหนือ จำนวน 13 คน)

ในปี 2566 มีนักวิจัยไทยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 2 คน ได้แก่
         1. ดร.สุจารี บุรีกุล อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์
         2. นายอานุภาพ พานิชผล นักวิจัย สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ

หัวช้องานวิจัยประกอบด้วย

      1) ไมโครพลาสติกและชีวนิเวศจุลชีพที่เกี่ยวข้องและสะสมในไมโครไบโอมในมวลน้ำ ตะกอน และสิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรอาร์กติก และ
      2) การหมุนเวียนสารอาหารและฟลักซ์คาร์บอนไดออกไซด์ : สัญญาณการตอบสนองทางชีวธรณีเคมีต่อการเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรอาร์กติกในภาวะโลกร้อน

     โดยนักวิจัยจะออกเดินทางจากประเทศไทยในวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 และจะใช้เวลาในการสำรวจและศึกษาวิจัยประมาณ 80 วัน ระหว่างวันที่ 12 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน 2566

     การเดินทางทางเข้าร่วมการวิจัยอาร์กติกทางเรือร่วมกับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีนครั้งนี้ จะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยคือ เป็นการขยายผลงานวิจัยที่ขั้วโลกเหนือของไทยที่ผ่านมาเมื่อ 5 ปีก่อน ซึ่งได้ทำศึกษาผลของภาวะโลกร้อนและขยะพลาสติกขนาดเล็กที่มีต่อสัตว์ทะเลหน้าดินในมหาสมุทรอาร์กติกบริเวณทางเหนือของหมู่เกาะสวาลบาร์ดระหว่างเดือนกรกฏาคมถึงเดือนสิงหาคม 2561 และยกระดับความก้าวหน้าของงานวิจัยและนักวิจัยไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งและส่งเสริมความยั่งยืนของงานวิจัยขั้วโลกและสิ่งแวดล้อมทางทะเลขั้วโลก อันเป็นการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่อาร์กติก สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบการศึกษาอื่นเพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนบริหารจัดการเมื่อต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต

สนใจร่วมสนับสนุนมูลนิธิหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
อาคารสวทช. ถนนพระราม 6 กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 02 564 7000 ต่อ 81813, 81816 email: info@princess-it.org