การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2/2565 มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
วันพุธที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 9.00 น. สมเด็จพระกนิษฐา ธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 2/2565 โดยวาระการประชุมเป็น การติดตามและพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานในปี 2565 ของโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวน 5 โครงการ และโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาของ กลุ่มเด็กด้อยโอกาส จำนวน 5 โครงการ มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนินงานตาม แนวพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาความรู้และศักยภาพของเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาสในสังคม มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมาย 5 กลุ่มหลัก คือ นักเรียนโรงเรียนในชนบท เด็กพิการ เด็กป่วยในโรงพยาบาล ผู้ต้องขัง และเยาวชนในสถานพินิจฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเท่าเทียมในโอกาสทางการศึกษาและการอาชีพ นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพของบุคลากร อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชน ประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมต่อไป
ในการทำงานมีคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานกรรมการฯ และมีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการและประสานงานในภาพรวมของโครงการและกิจกรรมที่ดำเนินงานภายใต้มูลนิธิฯ
ในปี 2564 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้พัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มากกว่า 400 คน ได้สนับสนุนการดำเนินงานศูนย์แก้ไขความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และผู้ที่มีความพิการบนใบหน้าและกะโหลกศีรษะ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกว่า 800 คน มีการดำเนินงานโครงการสมุนไพรรักษ์น้ำ (Herb for Healthy Water) ส่งเสริมให้คนในชุมชนตระหนักเห็นคุณค่าของแหล่งน้ำใช้อุปโภคบริโภค รวมกลุ่มกันรณรงค์ลดการใช้สารเคมีในชุมชน เกิดกิจกรรมการปลูกจิตสำนึก และมองเห็นคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศแหล่งต้นน้ำของชุมชน โดยนำร่องที่ บ้านเทพภูเงิน อุดรธานี และชุมชนใกล้เคียง ร่วมกันทำเกษตรปลอดภัยหรือเกษตรอินทรีย์ บนพื้นที่ไม่น้อยกว่า 40-50 ไร่ ส่งผลให้ลดการบุกรุกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกยางพารา สามารถช่วยสมาชิกสร้างรายได้จากการขายสมุนไพรขมิ้นชัน และสินค้าแปรรูปสมุนไพรท้องถิ่น เป็นต้น ในส่วนการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาและพัฒนาผู้ด้อยโอกาส มูลนิธิฯ ได้พัฒนาบุคลากรครู นักเรียน ผู้ต้องขัง เยาวชนในสถานพินิจฯ คนพิการ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง รวมจำนวนกว่า 11,000 คน มีเด็กป่วยได้รับการศึกษาในศูนย์การเรียนเพื่อเด็กป่วยฯ ในโรงพยาบาล ทำให้ไม่เสียโอกาสในการเรียน กว่า 30,000 คน มีความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายมากกว่า 160 แห่ง
ตัวอย่างของโครงการที่ดำเนินงานในปี 2564 มี อาทิ
• การสนับสนุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และโทรคมนาคมเพื่อการสื่อสารสำหรับชุมชนชายขอบ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี มีผู้ได้รับประโยชน์เป็นสถานศึกษา 21 แห่ง นักเรียนกว่า 3,000 คน ครูและเจ้าหน้าที่ 226 คน และคนในชุมชนกว่า 12,000 คน จาก 790 ครัวเรือน และได้ติดตั้งระบบบริการการพบแพทย์ทางไกล (Family Folder Collector) ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สุขศาลาในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงพยาบาลอื่นๆ จำนวน 6 แห่ง
• การพัฒนาสมรรถนะด้านการใช้อีคอมเมิร์ซ ให้แก่นักเรียนในชนบท เยาวชนในสถานพินิจฯ และผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถาน โดยจัดอบรมออนไลน์ในหลักสูตร “การสร้างธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล” และหลักสูตร “อีคอมเมิร์ซ” มีผู้จบหลักสูตรดังกล่าวได้รับประกาศนียบัตร จำนวน 543 คน และได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) จัดทดสอบสมรรถนะด้านการใช้อีคอมเมิร์ซ ตามมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ มีผู้สอบผ่านการทดสอบสมรรถนะด้านการใช้อีคอมเมิร์ซ จำนวน 141 คน หรือคิดเป็น 74.60% จากผู้เข้าทดสอบทั้งหมด
• การพัฒนาความสามารถของเยาวชนด้านการใช้สื่อในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลและการจัดการการเงิน มูลนิธิฯ ร่วมกับ ธนาคาร HSBC ดำเนินกิจกรรมพัฒนานักเรียนจากโรงเรียน ตชด. และเยาวชนในสถานพินิจฯ ให้มีความรู้ความสามารถในการบริหารจัดการการเงิน การออมเงิน การใช้สื่อเทคโนโลยีในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้อย่างปลอดภัย สร้างสรรค์ รับผิดชอบต่อสังคม สามารถใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อสื่อสารสาธารณะ รวมถึงใช้ในการสร้างเสริมรายได้หรือประกอบอาชีพ มีเยาวชนได้รับการพัฒนาความสามารถในกลุ่มนี้ประมาณ 390 คน