TH  |  EN

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปปราสาทไมเนา เกาะไมเนา ทรงร่วมพิธีปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ครั้งที่ 68

         วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เวลา 08.30 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปปราสาทไมเนา เกาะไมเนา ทรงร่วมพิธีปิดการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ครั้งที่ 68 ในฐานะที่ทรงเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ของมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล การประชุมนี้เป็นการประชุมเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ได้รับรางวัลโนเบลกับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2494 ณ เมืองลินเดา ริมทะเลสาบคอนสตันซ์ ในรัฐบาวาเรีย ทางใต้ของประเทศเยอรมนี ปัจจุบันมุ่งให้ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นเยาวชนนักศึกษาและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จากนานาประเทศ มีเป้าหมายตามคำขวัญ 3 ประการคือ ให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และเชื่อมโยงเครือข่าย

         สภาการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา ร่วมกับมูลนิธิผู้ได้รับรางวัลโนเบล เมืองลินเดาแห่งทะเลสาบคอนสตันซ์ จัดการประชุมนี้ทุกปีประมาณปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม หมุนเวียนไปตามสาขา ได้แก่ ฟิสิกส์ เคมี สรีรวิทยาหรือแพทยศาสตร์ สำหรับสาขาเศรษฐศาสตร์ จัดขึ้นทุก 2 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2547 การประชุดจะจัดทั้งสิ้น 6 วัน มีพิธีเปิดที่เมืองลินเดา ส่วนพิธีปิดจะจัดที่เกาะไมเนา ปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 68 ระหว่างวันที่ 24 ถึง 29 มิถุนายน 2561 ในสาขาสรีรวิทยาและแพทยศาสตร์ มีผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลเข้าร่วมการประชุม 39 คน มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์และนักวิจัยจากประเทศนานาประเทศ เข้าร่วมงาน มากกว่า 600 คน

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงฟังเสวนาหัวข้อ “วิทยาศาสตร์ในโลกยุคที่ผู้คนยอมรับการโต้เถียงบนพื้นฐานของอารมณ์และความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง” ผู้ร่วมการเสวนา ได้แก่ นายสตีเวน ชู ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา, นายปีเตอร์ โดเฮอร์ตี จากภาควิชาจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย, นายไบรอัน มาโลว์ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สหรัฐอเมริกา, นายอดัม วิสนานต์ สถาบันไวรัสวิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยา มหาวิทยาลัยยูเลียส-แมกซ์มิเลียนส์ วืสบวร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หัวข้อการเสวนาเป็นเรื่อง บทบาทของนักวิทยาศาสตร์ในการสื่อสารข้อเท็จจริง ข้อค้นพบ และข้อควรระวังจากการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ กลุ่มเป้าหมายต่างกันรูปแบบการสื่อสาร วิธีการ และภาษาที่ใช้ควรต่างกัน เพื่อความเหมาะสมและให้เกิดความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์ดียิ่งขึ้น เพราะวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์และสังคมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา

          สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระอักษรวารสารฉบับหนึ่งของเยอรมัน พบว่ามีการประชุมนี้ จึงทรงริเริ่มติดต่อให้นิสิตนักศึกษา นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุม ได้มีโอกาสเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่มาประชุมกันและช่วยแนะนำนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์เรื่องการค้นคว้าวิจัย มีพระราชดำริให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เป็นผู้ประสานงานประกาศแจ้งรับสมัครและคัดเลือกนิสิต นักศึกษา นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ เพื่อเป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม มีคณะกรรมการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราช สุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชวินิจฉัย ในปีนี้มีผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม 6 คน

          หลังการเสวนา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักวิทยาศาสตร์เยาวชนไทยที่ร่วมการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ครั้งที่ 68 เฝ้าทูลละอองพระบาท และมีพระราชปฏิสันถารด้วยเรื่องประโยชน์ของการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ ขอให้นำความรู้ที่ได้ไปช่วยแก้ไขปัญหาประเทศ เช่น ปัญหาสุขอนามัยของคนในชนบทห่างไกล และถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้รับให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสเดินทางมาได้รับทราบต่อไป

          จากนั้น ทรงพระดำเนินไปสนามหญ้าหน้าปราสาทไมเนา เสวยพระกระยาหารกลางวันแบบปิกนิก พร้อมกับผู้เข้าร่วมการประชุม / การที่ทรงพยายามขวนขวายติดต่อให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของไทยได้เข้าประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบลนี้ ทำให้เกิดความก้าวหน้าในวงการวิทยาศาสตร์ไทยเป็นอันมาก เป็นช่องทางที่วงวิชาการไทยจะได้ประโยชน์ พัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้ทันนานาชาติ เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและชนหมู่มาก ควรที่นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการไทยจะได้ใส่ใจพัฒนา และสร้างเครือข่ายกับผู้ที่ได้มีโอกาสเข้ามาร่วมประชุม เพื่อจะได้กระจายความรู้ไปยังส่วนต่างๆของสังคม ทำให้เกิดประโยชน์ที่กว้างขวางเพื่อความเจริญของบ้านเมือง