TH  |  EN

โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ

     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตั้งพระทัยที่จะช่วยพัฒนาคนพิการในประเทศไทยโดยการยึดหลักการดำรงชีวิตอิสระ (Independent Living) ในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กพิการให้ได้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการเรียนรู้ การสร้างความรู้ การพัฒนาทักษะต่างๆ เพื่อสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น ช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองของคนพิการ รวมทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตต่อไป

มีวัตถุประสงค์เพื่อ
     ๑. ส่งเสริมให้คนพิการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้รับความรู้และสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนพิการในด้านต่างๆ ทั้งการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย การดำรงชีวิตประจำวัน การศึกษาและการประกอบอาชีพ
     ๒. ส่งเสริมให้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก โปรแกรมหรือสื่อการสอนเพื่อให้คนพิการได้ใช้งานในราคาที่ย่อมเยากว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยอุปกรณ์หรือระบบสารสนเทศเหล่านี้จะช่วยให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตอิสระได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาผู้ใกล้ชิด อันจะส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


     โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการ ได้เริ่มดำเนินการที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ของมูลนิธิอนุเคราะห์ คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหวเป็นแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๙ ซึ่งการดำเนินงานได้ผลเป็นที่น่าพอใจและเป็นแบบอย่างของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกไปใช้ในการเรียนการสอนสำหรับ คนพิการ จากนั้นจึงขยายผลต่อไปยังโรงเรียนสำหรับนักเรียนพิการประเภทอื่นๆ นอกจากนี้ทรงพระราชทานกรณีศึกษาที่มีความพิการหลากหลายที่ทรงได้พบจากการเสด็จพระราชดำเนินในที่ต่างๆ ให้คณะกรรมการและคณะทำงานมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ช่วยคิดค้นต้นแบบ จัดหาเครื่องมือหรือเทคนิคการจัดการเพื่อให้คนพิการสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเองมากขึ้น รวมทั้งจัดการอบรมการใช้งานเครื่องมือต่างๆ ให้กับคนพิการและผู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการติดตามประเมินผลโครงการเพื่อพิจารณาถึงแนวทางการขยายผล เพื่อให้มีจำนวนผู้ที่จะได้รับประโยชน์กว้างขวางขึ้นต่อไป โครงการย่อยที่ดำเนินงานภายใต้โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการในปัจจุบันมีดังนี้

 

     โครงการให้การช่วยเหลือกรณีศึกษาพระราชทาน ดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ในด้านต่างๆ ได้แก่ การรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ การศึกษา และการประกอบอาชีพ รวมถึงการสนับสนุนให้สภาพเศรษฐกิจของครอบครัวดีขึ้น โดยทรงให้จัดหาเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตได้ด้วยตนเอง โดยไม่เป็นภาระของครอบครัวและสังคมมาก การดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการในพื้นที่เข้ามาร่วมวางแผนและติดตามการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โครงการได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึงปัจจุบัน มีคนพิการที่อยู่ในความดูแลของโครงการรวมทั้งสิ้นจำนวน ๒๐ ราย

     โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาสำหรับคนพิการ ดำเนินการพัฒนาการศึกษาของคนพิการ มาตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ โดยได้จัดทำโครงการสนับสนุนโรงเรียนที่จัดการศึกษาพิเศษสำหรับนักเรียนพิการประเภทต่างๆ เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยในการจัดการเรียนการสอนนักเรียนพิการ เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ การพัฒนาทักษะต่างๆ ตลอดจนช่วยเพิ่มความสามารถและเติมเต็มศักยภาพและการสร้างโอกาสความเสมอภาคในการทำกิจกรรมการเรียนให้กับนักเรียนพิการ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป โดยมีโครงการย่อย ๔ โครงการ ได้แก่ ๑) โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนศรีสังวาลย์ (ดำเนินงานพัฒนาการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายและการเคลื่อนไหว) ๒) โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนกาวิละอนุกูล (ดำเนินงานพัฒนาการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและออทิสติก) ๓) โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศโรงเรียนโสตศึกษา (ดำเนินงานพัฒนาการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกายการได้ยิน) และ ๔) โครงการนำร่องเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับนักเรียนตาบอด มีนักเรียนตาบอดที่สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษาสายวิทยาศาสตร์แล้ว จำนวน ๔ คน

     ผลงานของโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อคนพิการอื่นๆ ที่ได้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 มีตัวอย่างดังนี้
     • การนำโปรแกรมฝึกและแก้ไขการพูด Speech Viewer มาใช้เพื่อช่วยในการฝึกการออกเสียงและฝึกพูดสำหรับเด็กมีอาการ Celebral Palsy โดยได้ดำเนินการแห่งแรกที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๔๑ และมีการขยายผลการอบรมการฝึกและแก้ไขการพูด โดยใช้โปรแกรม Speech Viewer และ โปรแกรมประเมินเสียงพูดภาษาไทย (Thai Speech Assessment) สำหรับหน่วยงานต่างๆ อีกจำนวน ๒๒ หน่วยงาน โดยนำไปใช้ฝึกพูดสำหรับนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยิน ทางสติปัญญา และออทิสติก
     • โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพในโรงพยาบาล ดำเนินงานนำร่องในโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าและโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่เพื่อนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกมาช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยพิการ ตลอดจนส่งเสริมการใช้ไอทีเพื่อการศึกษาและการประกอบอาชีพเมื่อผู้ป่วยกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านและในสังคมต่อไป
     • การจัดทำอุปกรณ์สัญญาณเสียงเพื่อช่วยในการเดินทางของคนตาบอด โดยนำไปติดตั้งที่รถประจำทาง สาย ๑๒ เพื่อให้คนตาบอดทราบว่ารถประจำทางที่กำลังแล่นมาเป็นรถสายอะไร จะวิ่งไปไหน ฯลฯ
     • การพัฒนาอุปกรณ์สำหรับช่วยสื่อสารขนาดพกพาสำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องการออกเสียง (โอภา) เพื่อให้สามารถสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ ได้
     • การพัฒนาโปรแกรมช่วยสื่อสารด้วยภาษาไทยสำหรับผู้สูญเสียความสามารถด้านการพูด (ปราศรัย) อันเนื่องจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วย เพื่อให้สามารถโต้ตอบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
     • การพัฒนามัลติมีเดียภาษามือไทยเกี่ยวกับคำศัพท์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้ในการเรียนการสอนคอมพิวเตอร์แก่คนหูหนวก หูตึง และการอบรมล่ามภาษามือ
     • การพัฒนาสื่อช่วยสอนเพื่อการส่งเสริมพัฒนาการเพื่อลดความเสี่ยงของทารกในด้านการบกพร่องทางสติปัญญา (CAI for Early Intervention) โดยหากผู้ปกครองสังเกตเห็นว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติในขวบปีแรก สามารถใช้สื่อดังกล่าวในการฝึกทักษะ พัฒนาสติปัญญา และสมองของเด็ก ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของความบกพร่องทางสมองของเด็กได้ • การสนับสนุนการพัฒนาหนังสือเดซี (Digital Accessible Information System) สำหรับผู้พิการทางการเห็น ในทัณฑสถานหญิงกลาง รวมทั้งการจัดหาเครื่องอ่านหนังสือเสียง ให้กับโรงเรียน/องค์กรของคนตาบอด และการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่หน่วยงานที่ได้รับเครื่องอ่านหนังสือ