โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง
โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ดำเนิน โครงการเทคโนโลยี สารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับความรู้และทักษะเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ ระหว่างที่อยู่ในที่คุมขัง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อสร้างรายได้และคุณค่ต่อตนเอง และนำความรู้และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับระหว่างต้องโทษ ไปประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษได้
โครงการเทคโนโลยีสารสนทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขัง เริ่มดำเนินโครงการจากเรือนจำทัณฑสถานนำร่อง 4 แห่ง จากนั้น กรมราชทัณฑ์ ได้พิจารณาคัดเลือกเรือนจำ/ทัณฑสถาน 21 แห่ง เพื่อขยายผลการดำเนินงานทำให้มีเรือนจำ/ทัณฑสถานที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 25 แห่ง (รายชื่อปรากฏตามตาราง) โดยทุกเรือนจำทัณฑสถานมีการจัดการเรียนการสอนวิชาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในหลักสูตรระยะสั้น และ หลักสูตรระยะยาว และปัจจุบันกรมราชทัณฑ์ได้ขยายห้องเรียนคอมพิวเตอร์ไปยังเรือนจำ/ทัณฑสถานกว่า 106 แห่งทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ พ.ศ. 2558)
ห้องเรียนคอมพิวเตอร์ : โอกาสทองของผู้ต้องขัง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มจัดทำห้องเรียนคอมพิวเตอร์ในเรือนจำและสอนคอมพิวเตอร์ให้แก่นักโทษ ในเรือนจำ โครงการเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาผู้ต้องขังเริ่มดำเนินการในปี พ.ศ. 2540 โดยจัดอบรมความรู้คอมพิวเตอร์ให้แก่ผู้ต้องขังในเรือนจำ/ทัณฑสถานนำร่อง 4 แห่ง แต่ละแห่งได้รับพระราชทานคอมพิวเตอร์ 20 เครื่อง และเครื่องพิมพ์ 3 เครื่อง โดยเปิดสอนตั้งแต่วิชาชั้นพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง รวมถึงการช่อมบำรุงคอมพิวเตอร์ และการออกแบบสื่อสิ่งพิมพ์
ผู้ต้องขังได้รับประโยชน์จากห้องเรียนคอมพิวเตอร์นี้ หลายคนมีรายได้จากการ รับจ้างพิมพ์งาน ออกแบบบัตรอวยพร ส.ค.ส เพื่อจำหน่าย และบางคนนำความรู้ไปเริ่ม ธุรกิจส่วนตัว (เช่น ร้านถ่ายรูปดิจิทัล) เมื่อพันโทษไปแล้ว จากข้อมูล 8 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2550 -2557) มีผู้ต้องขังได้รับการอบรมวิชาชีพคอมพิวเตอร์ไปกว่า 20,000 คน เกิดรายได้จากการใช้ความรู้ด้านไอทีสร้างผลงานในระหว่างที่ถูกคุมขัง คิดเป็นเงิน รวมกว่า 13 ล้านบาท เรือนจำได้มอบค่าตอบแทนให้แก่ผู้ต้องขังแม้จะไม่มากนัก แต่ก็พอเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น หรือส่งให้ครอบครัวได้
การจัดการศึกษาวิชาคอมพิวเตอร์ให้กับผู้ต้องขัง
กรมราชทัณฑ์ได้จัดการศึกษาวิชาชีพคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรระยะสั้น-ระยะยาว) การเรียนการสอนตามหลักสูตรอาชีวศึกษา (ระดับ ปวช.-ปวส.) และการศึกษาระดับปริญญาตรีตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชให้กับผู้ต้องขัง เพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับความรู้ และทักษะเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ระหว่างที่อยู่ในที่คุมชัง ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์เพื่อสร้างรายได้และคุณค่าต่อตนเอง และ นำไปประกอบอาชีพได้เมื่อพ้นโทษ
การจัดการศึกษาวิชาชีพคอมพิวเตอร์และหลักสูตรอาชีวศึกษาให้แก่ผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังที่เข้าร่วมอบรมวิชาชีพคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 – ปัจจุบัน (ณ มกราคม 2558) มีผู้ต้องขังที่สำเร็จหลักสูตร วิชาชีพคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรระยะสั้น – ระยะยาว) จำนวน 10,437 คน และผู้ต้องขังที่สำเร็จหลักสูตรอาชีวศึกษา (ระดับ ปวช. ปวส) จำนวน 11,030 คน รวมทั้งสิ้น 21,467 คน
การฝึกวิชาชีพไอทีสำหรับผู้ต้องขัง
โครงการฝึกอบรมทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ให้ผู้ต้องขังได้ปฏิบัติจริง โดยให้รับจ้างทำงานภายในเรือนจำ/ทัณฑสถานนั้นๆ เช่น รับจ้างพิมพ์รายงาน จัดทำหนังสือเสียงเดซี่สำหรับผู้พิการทางการมองเห็น (รับงานจากสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย) ทำนามบัตร กระดาษเขียนจดหมาย การ์ดอวยพร สำหรับจำหน่ายภายในเรือนจำ เป็นต้น สร้างรายได้ระหว่างต้องโทษและเก็บเป็นทุนหลังพ้นโทษได้ รายได้ของผู้ต้องขังจากเรือนจำ/ทัณฑสถานจากการใช้ความรู้ด้านไอที คิดเป็นเงินรวมกว่า 13 ล้านบาท (ข้อมูล พ.ศ. 2545-2556)
การฝึกวิชาชีพ Call Center
ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ได้ขยายผลจากการฝึกอบรมคอมพิวเตอร์ ในห้องคอมพิวเตอร์พระราชทาน มาสู่การรับจ้างงาน ให้บริการ Call Center ต่อเนื่องมาเป็น Telesale จนถึงปัจจุบัน บริษัท เทเลอินโฟมีเดีย จำกัด ได้มาจ้างงานผู้ต้องขังของทัณฑสถานฯ จำนวน 78 อัตรา ส่งผลให้มีรายได้เข้าผู้ต้องขังและ ทัณฑสถานฯ ปีละประมาณ 10 ล้านบาท (ข้อมูล ณ มกราคม 2557) โครงการฝึกวิชาชีพ Call Center เริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2556 ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ได้รับเลือกให้เป็นเรืนจำนำร่อง ในการฝึกวิชาชีพ Call Center 1188 สำหรับการให้บริการ Telesale หรือการให้บริการเสริมบนโทรศัพท์มือถือ
การจัดทำสื่อ “เรื่องเล่าทางสังคม” เพื่อสร้างเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กออทิสติก
เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สถาบันราชานุกูล สำนักงานกองทุน สนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) และทัณฑสถานหญิงกลาง เพื่อผลิตหนังสือ “เรื่องเล่าทางสังคม (Social Stories)” สำหรับ นำมาใช้ในการส่งเสริมพฤติกรรมที่เหมาะสมให้กับเด็กออทิสติก โดยจัดทำเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่จัดพิมพ์เป็นรูปปเล่ม และสื่อมัลติมีเดีย ที่มีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียงบรรยาย
การประยุกต์ใช้ eDLTV ในเรือนจำ และทัณฑสถาน
ผู้ต้องขัง เรือนจำและทัณฑสถานส่วนใหญ่ประสบปัญหาเช่นเดียวกับโรงเรียนในชนบท คือ ขาดแคลนครูผู้สอนหนังสือ, เจ้าหน้าที่ต้องสอนผู้ต้องขังด้วยตนเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มี ความชำนาญบางวิชา เจ้าหน้าที่มีจำนวนน้อย และต้องปฏิบัติหน้าที่หลายอย่าง และขาดแคลน สื่อเพื่อใช้ทบทวนบทเรียน จึงเกิดแนวคิดที่จะนำระบบ eDLTV ไปใช้ส่งเสริมการศึกษา แก่ผู้ต้องขัง เรือนจำและทัณฑสถานนำระบบ eD LTV มาใช้ในโครงการวิชาชีพระยะสั้น, เป็นสื่อเสริม ในวิชาสามัญตามหลักสูตร กศน. (ประถมศึกษา, มัธยมศึกษา) ระดับอาชีวศึกษา (ปวช. ปวส) และโครงการส่งเสริมการรู้หนังสือให้กับผู้ต้องขัง